งานวิจัยและบทความ

การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยใช้ศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา

โดย อัครินทร์ อังกูรวงษ์วัฒนา

เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารนวัตกรรมการบริหารและการจัดการ, ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (2561): กันยายน - ธันวาคม 2561


บทความวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยใช้ศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์บริบททางสังคมและวัฒนธรรมล้านนาที่ส่งผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และศึกษาศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาที่ส่งผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยวิธีการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ทั้งจากแหล่งปฐมภูมิ และทุติยภูมิ (Primary and Secondary Sources) จากการสังเกต และจากการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-Depth Interview) จากกลุ่มให้ข้อมูลหลัก (Key-Informants) กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านหรือพ่อหลวง ผู้นำชุมชน กลุ่มนักวิชาการ ได้แก่ นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ กลุ่มภาคประชาสังคมที่สนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่ผู้วิจัยทำการศึกษาและนักพัฒนา ข้าราชการ ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิปัญญาล้านนา

ผลการวิจัยพบว่า 1) บริบททางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ส่งผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทุนทางสังคมหรือทุนภูมิปัญญาที่มีอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา เช่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ล้านนา มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมสืบสานเป็นมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมมีความโดดเด่นและทรงคุณค่า สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาสัมผัสเที่ยวชมวัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นและมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น 2) ศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา ส่งผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนได้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากระบบเสรีนิยมเป็นระบบเสรีนิยมใหม่ (Liberalism/Neo-Liberalism) จากสังคมและวัฒนธรรมเป็นพหุสังคมและพหุวัฒนธรรม ศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาที่ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการพัฒนาการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ส่งผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน