งานวิจัยและบทความ

น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ): “ศิลปินแห่งชาติ” กับ “ศิลปะไทย” ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ

โดย กำพล จำปาพันธ์, สายชล สัตยานุรักษ์

เผยแพร่เมื่อ 26 พฤษภาคม 2024

ประวัติศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Vol. 3 No. 1: (March-August 2016)


บทความนี้มีขึ้นเพื่อนำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับบทบาทชีวิตและผลงานของ น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติของไทย พบว่าผลงานของ น. ณ ปากน้ำ มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในมิติเชิงประวัติศาสตร์และผลงานจำนวนมากก็จัดประเภทอยู่ในงานประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่สำคัญของไทย  การเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ โดยอาศัยหลักฐานจากศิลปะโบราณสถานและโบราณวัตถุเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ด้วยวิธีการและแนวทางที่เรียบง่าย  อย่างเช่นการเดินทางสำรวจตรวจสอบข้อมูลจากสถานที่ในท้องถิ่น ทำให้ผลงานเป็นที่สนใจแก่สาธารณชน โดยในช่วงที่เดินทางสำรวจนั้น น. ณ ปากน้ำ เมื่อพบเห็นสภาพของโบราณสถานและศิลปวัตถุหลายแห่งในประเทศไทย ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็มักจะร้องเรียนเข้ามายังส่วนกลาง จากจุดนี้ทำให้ น. ณ ปากน้ำ มีบทบาทเป็นผู้กำหนดนิยาม จัดประเภท จำแนกแยกแยะว่า อะไรคือ “ศิลปะไทย” หรือ “ศิลปะประจำชาติ” ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์  เขาเห็นว่าศิลปะจำชาติ ได้แก่ ผลงานของบรรพชนที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต  แต่ที่จริงแล้วการกำหนดนิยามศิลปะดังกล่าวเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขประวัติศาสตร์ของรัฐชาติและตัวเขาก็ได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว  การศึกษาเรื่องราวบทบาทชีวิตและผลงานของ น. ณ ปากน้ำ จึงมีคุณูปการเผยให้เห็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับความคิดทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตีความและใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์สมัยโบราณในสังคมวัฒนธรรมของรัฐชาติไทย