งานวิจัยและบทความ
ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะวัดกับชุมชนโดยรอบ: กรณีเทศบาลนครสงขลา
โดย ณัฐนีภรณ์ น้อยเสงี่ยม
เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024
ภูมิทัศน์วัฒนธรรม, การจัดการมรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อค้นหาบทบาทพื้นที่ว่างสาธารณะ ของวัดในเทศบาลนครสงขลาว่า มีความสัมพันธ์กับการใช้งานของชุมชนอย่างไรในบริบทสังคมไทย โดยดำเนินการวิจัยแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกลุ่มตัวแทนประชากร โดยมีผู้นำชุมชน กลุ่มตัวแทนชุมชน เจ้าอาวาส และตัวแทนพระสงฆ์ 18 วัด ตัวแทนผู้ประกอบการ กลุ่มตัวแทนผู้ใช้พื้นที่วัดทำกิจกรรม มีการเก็บข้อมูลด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ร่วมกับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกายภาพ ตำแหน่งพื้นที่รูปแบบและช่วงเวลาทำกิจกรรม จากกรณีศึกษา พบว่า พื้นที่ว่างสาธารณะในวัดมีบทบาทเป็นพื้นที่บริการชุมชน การใช้พื้นที่ทำกิจกรรมเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบตามช่วงเวลา โดยมีการใช้พื้นที่เขตธรณีสงฆ์เป็นพื้นที่หลากหลายด้านพร้อมกัน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านสังคมด้านพาณิชยกรรม และเป็นกลไกสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชน ที่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงพื้นที่ได้ 3 ลักษณะ คือ มิติทางกายภาพ เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมการพบปะ สร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในชุมชน เชื่อมต่อไปสู่การเกิดมิติทางจิตใจ และนำพื้นที่ไปขยายผลให้เกิดมิติทางเศรษฐกิจ ข้อค้นพบสำคัญในการวิจัย คือ การเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมในวัดอย่างผิดวัตถุประสงค์ เป็นปัญหาเชิงสังคมที่สะท้อนถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐ การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐ ชุมชน และวัด จึงเป็นแนวทางที่ควรมีการนำมาพิจารณาและปฏิบัติร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต