งานวิจัยและบทความ

"บ้านทุ่งเข็น" ชุมชนชาติพันธุ์มอญร่วมสมัยแห่งสุพรรณบุรี

โดย องค์ บรรจุน

เผยแพร่เมื่อ 14 มิถุนายน 2024

ชาติพันธุ์
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

ดำรงวิชาการ, ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (2017): กรกฎาคม - ธันวาคม 2560


บทความนี้ นำเสนอวิถีชุมชนวัฒนธรรมมอญร่วมสมัยแห่งบ้านทุ่งเข็น ซึ่งมีอัตลักษณ์ซับซ้อนและหลากหลาย ท่ามกลางผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ในสภาวะโลกาภิวัตน์ ในยุคที่สื่อใหม่มีบทบาทสำคัญ ชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลนโยบายรัฐ และเท่าทันสถานการณ์โลก ภาคส่วนราชการใช้กระแสสังคมที่มากับนโยบายองค์กรระดับโลกผลักดันวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นต้นทุนการท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงไม่ได้เป็นเจ้าของชุมชนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนลำพังอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ “เลือก” ที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตนในบริบทที่เลื่อนไหล แม้ว่าอำนาจในการเลือกที่แท้จริงอาจจะไม่ได้เป็นของชาวบ้านโดยสมบูรณ์ ทว่าเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้อำนาจในเชิงความสัมพันธ์สองทาง หรือหลักการต่างตอบแทน (Reciprocity) ต่อมาตรการตั้งรับนโยบายเชิงรุกด้านวัฒนธรรม อำนาจและความซับซ้อนในการเป็นผู้เลือกของชาวบ้านจึงปรากฏให้เห็นอย่างมีพลวัตและมีนัยยะ ประการสำคัญ ระบบความเชื่อในการนับถือผีบรรพชน (ผีบ้านผีเรือน) ตลอดจนระบบอาวุโส และความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ ที่ดูเหมือนย้อนแย้งและถูกท้าทายโดยข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่มากับสภาวะโลกาภิวัตน์ กลับยังคงเป็นแกนหลักของวิถีชีวิต มีบทบาทสำคัญในการยุติความขัดแย้งและเชื่อมร้อยชุมชนเข้าไว้ด้วยกันได้ในระดับหนึ่ง