งานวิจัยและบทความ

จารึกศังกร : จุดเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซีย

โดย ดอกรัก พยัคศรี , อุเทน วงศ์สถิตย์

เผยแพร่เมื่อ 15 มิถุนายน 2024

จารึกและเอกสารโบราณ
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารอักษราพิบูล,| 19ปีที่ 3ฉบับที่2 กรกฎาคม -ธันวาคม 2565


บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจารึกศังกร ประเทศอินโดนีเซียในฐานะที่เป็นจุดเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซียยุคคลาสสิคในช่วงที่ราชวงศ์ไศเลนทร์ได้ปกครองพื้นที่ในเกาะชวา และมีความรุ่งเรืองจนสามารถสร้างมหาสถานที่ยิ่งใหญ่ อย่างบุโรพุทโธ มหาสถานพุทธศาสนานิกายมหายาน และปรัมบานันมหาสาถานศาสนาฮินดูไศวะนิกาย จารึกศังกรทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนผ่านการสนับสนุนทางศาสนาของพระเจ้าปณัมกรัณ จากศาสนาฮินดูไศวะนิกายอันเป็นศาสนาที่พระเจ้าสัญชยะ พระบิดาของพระองค์ได้นับถือมาแต่เดิมมาเป็นพุทธศาสนา นิกายมหายาน นอกจากนี้จารึกศังกรยังได้เชื่อมโยงจารึกที่สำคัญของอินโดนีเซียอีก 3 หลัก ได้แก่ จารึกโซโยเมอระโต ที่กล่าวถึง เสเลนทระ ตระกูลผู้ปกครองชวายุคแรกต้นตระกูลของราชวงศ์ไศเลนทร์ นับถือศาสนาฮินดู ไศวะนิกาย จารึกจังกัล ที่กล่าวถึง การสร้างศิวลึงค์บนภูเขาของพระเจ้าสัญชยะ และจารึกกาละสัน ที่กล่าวถึงการสร้างเทวาลัยแด่พระนางตารา พระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนา ซึ่งจารึกทั้ง 4 หลักนี้ก็ทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของสายตระกูลของราชวงศ์ไศเลนทร์ โดยไม่มีการแยกพระเจ้าศรีสัญชยะออกไปจากราชวงศ์ไศเลนทร์ แล้วไปตั้งราชวงศ์ของตนเองว่า ราชวงศ์สัญชยะ