งานวิจัยและบทความ

การฟื้นฟูมรดกยุครัตนโกสินทร์ที่ถูกละเลย: กรณีชุมชนคุ้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม

โดย วรสิทธิ์ ตันตินิพันธ์ุกุล

เผยแพร่เมื่อ 9 พฤษภาคม 2024

การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม
แหล่งจัดเก็บทรัพยากรต้นฉบับ

วารสารสยามสมาคม Vol. 100 (2012)

ดาวน์โหลด

Reviving the Neglected Heritage of the Rattanakosin Era: The Case of the Old Chao Phraya River Oxbow


ชุมชนเมืองเก่าที่สำคัญในเมืองใหญ่ทั่วไทยกำลังเผชิญกับการทำลายอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเมือง ตามรายงานของการเคหะแห่งชาติ มีชุมชนเมืองเก่า 140 แห่ง โดยจำแนกในห้าลักษณะ ได้แก่ เรือนแพ เรือนริมน้ำ เรือนแถว หมู่บ้านในเมือง และชุมชนตลาด โดยส่วนใหญ่เรือนและเรือนแถวที่สร้างขึ้นด้วยโครงสร้างไม้ง่าย ๆ สร้างโดยฝีมือช่างในท้องถิ่น อันแสดงถึงแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์ในการตั้งถิ่นฐานในเมืองระยะแรก ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างกรอบไม้ที่เบา และวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทว่าภูมิวัฒนธรรมของเรือนไม้เหล่านี้กลับไม่อยู่ในนิยามสถาปัตยกรรมไทยแบบทางการ เพราะให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาและราชสำนัก ในบทความนี้ ผู้เขียนศึกษาชุมชนริมน้ำสามแห่งในพื้นที่คุ้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในธนบุรี ได้แก่ชุมชนคลองบางกอกน้อยทางเหนือ ชักพระในตอนกลาง และบางหลวงหรือบางกอกใหญ่ทางใต้

การคัดเลือกพื้นที่ศึกษาเพราะความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์กับเขตประวัติศาสตร์ในเกาะรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านในพื้นที่นี้เป็นลูกหลานของข้าราชการระดับล่างที่เคยทำงานในราชสำนักในพระนคร และยังเป็นสถานที่ที่รู้จักดีว่าเป็นบ้านเกิดของตัวละครหญิงยอดนิยม 'แม่พลอย' ในนวนิยายไทยคลาสสิกเรื่องสี่แผ่นดิน การวิจัยนี้จึงกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ ปัญหาหลักที่ส่งผลให้ชุมชนลดบทบาทลง และความพยายามของชุมชนริมคลองในการรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของตน ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่ามรดกสถาปัตยกรรมฉบับทางการของรัฐไทยละเลยไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น แต่รวมถึงประวัติศาสตร์ชาวนา พ่อค้าแม่ขาย และข้าราชการที่ตั้งถิ่นฐานที่พึ่งพาแม่น้ำและไม่ไกลจากพระนคร ฉะนั้น การบูรณะและการวางแผนเพื่อการอนุรักษ์ต้องพิจารณาทั้งลักษณะทางกายภาพของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมถึงการบันทึกและการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวเมืองในเขตนี้