Back to news

30 November 2024

ถอดบทเรียนกิจกรรมเสวนา “ความสำคัญของการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม”

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และ สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมเสวนาและศึกษาสัญจร ความสำคัญของการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ในวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา และได้เชิญวิทยากรจากกรมศิลปากร 2  ท่าน ได้แก่ คุณสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสํานักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา คุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ นักโบราณคดีชํานาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และวิทยากรจากกองทุนโบราณสถานโลก 3 ท่าน ได้แก่  คุณเจฟฟ์ อัลเลน ผู้อํานวยการโครงการอาวุโส ประจําภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล สถาปนิกอนุรักษ์และผู้จัดการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม และคุณนฤดล ดีฉาย ช่างไม้ประจําโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 และคาดว่าจะสิ้นสุดลงภายในช่วงปลาย พ.ศ. 2568 

กิจกรรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและเทคนิคการอนุรักษ์ในระดับสากล ผ่านการร่วมมือกันขององค์กรเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการอนุรักษ์ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งโบราณสถาน  งานเสวนานี้ จัดขึ้นที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และตามด้วยการนำชมพิเศษโดยเจ้าหน้าที่ของกองทุนโบราณสถานโลกที่วัดไชยวัฒนาราม

ที่มาของโครงการ และประวัติการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม 

“ความยากลำบากคือการทำให้โบราณสถานที่อายุร้อยกว่าปีให้ยังคงอยู่ต่อไป ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” – คุณเจฟฟ์ อัลเลน

คุณเจฟฟ์เปิดการเสวนาด้วยการแนะนำกองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งทำงานอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และอนุสรณ์สถานของโลก มีสำนักงานหลักอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศต่างๆ โดยขณะนี้องค์กรยังไม่มีสำนักงานสาขาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

การเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่วัดไชยวัฒนารามนี้ ถือเป็นโอกาสที่พิเศษเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความร่วมมือระดับสูงระหว่างประเทศ อันสืบเนื่องมาจากเหตุมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 นำไปสู่การสนับสนุนเงินทุนจากผู้บริจาคเอกชน มีการกำหนดเงินทุนขึ้นมาเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น นอกจากนี้ โครงการอนุรักษ์วัดไชยฯ ยังสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกองทุนโบราณสถานโลกอย่างชัดเจน ในข้อที่มุ่งจะอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (อีกสองหลักเกณฑ์ คือมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแต่ไม่ได้รับการดูแล และมรดกวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวเกินขนาด) โดยโครงการที่วัดไชยฯ ได้มีส่วนช่วยทำให้ความหมาย และกรอบของหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้นี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

การจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติขั้นต้น

คุณสุกัญญากล่าวว่า สำหรับวัดไชยวัฒนาราม ที่อยู่นอกเกาะเมือง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2478 หลังจากนั้น กรมศิลปากรได้ดำเนินการเรื่องการขุดแต่ง บูรณะ ซ่อมแซมในส่วนต่างๆ โยกย้ายบ้านเรือนประชาชนในเขตโบราณสถานออกไปเพื่อเปิดพื่นที่ในวัดไชยวัฒนาราม เพื่อความสมบูรณ์ในองค์ประกอบของโบราณสถาน และเริ่มการอนุรักษ์จิตรกรรม ไม้ เมรุทิศ เมรุราย ปูนปั้นพุทธประวัติโดยรอบ จนครบถ้วน 

เมื่อ พ.ศ. 2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ กรมศิลปากรจึงได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการเพื่อออกแบบวิธีการป้องกันน้ำท่วมร่วมกัน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เราสามารถเห็นได้ในปัจจุบัน เป็นกำแพงกั้นน้ำลักษณะพับเก็บได้บริเวณด้านหน้าวัดที่ติดกับแม่น้ำ มีความยาวประมาณ 160 เมตร เวลาน้ำมาก็จะสามารถยกขึ้นเพื่อตั้งรับได้ ในเหตุมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ปริมาณน้ำที่สูงทำให้กำแพงทางทิศใต้พังทะลายลง น้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่ นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระดับนานาชาติกับกองทุนโบราณสถานโลกเป็นต้นมา 

คุณสุกัญญาอธิบายว่า แม้วัดไชยฯ จะไม่นับว่าตั้งอยู่ในพื้นที่มรดกโลก แต่ก็ได้รับการประกาศคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2558 ศูนย์มรดกโลกได้แจ้งเตือนมาที่ประเทศไทยเพื่อสอบถามเกี่ยวกับแผนการรับมือกับน้ำท่วมของอยุธยา ณ ขณะนั้น แผนแม่บทหมดอายุไปตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2536 – 2544 แต่กรมศิลปากรยังเป็นหน่วยงานที่นำเอาแผนแม่บทมาดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้มีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจและเห็นว่าจะต้องมีการยกระดับการอนุรักษ์ในอยุธยาให้อยู่ในระดับสากล ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการริเริ่มโครงการอย่างจริงจัง และควรที่เสริมความมั่นคงอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตัววัสดุ เพื่อให้โบราณสถานอยู่ร่วมกับน้ำและสภาพอากาศได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาน้ำมา โบราณสถานสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้ เวลาน้ำผ่านไปก็สามารถซ่อมแซมได้เล็กๆ น้อยๆ ส่วนระบบกำแพงพับกั้นน้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่สำหรับโบราณสถาน สามารถนำมาติดตั้งแล้วแต่กรณีไป

มาถึงปัจจุบัน แผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมอยุธยาได้ผ่านการอนุมัติจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2575 มีการรวบรวมแผนเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเรื่องการระบายและจัดการน้ำ ทั้งในระดับภูมิภาค และทั้งในระดับพื้นที่ที่มีการจัดระบบป้องกันน้ำตามจุดต่างๆ โดยให้วัดไชยฯ เป็นต้นแบบ เป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันน้ำท่วม หรือตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง 

คุณชญาดาอธิบายเพิ่มว่า เนื่องจากการที่อยุธยาเป็นเมืองน้ำ แนวทางที่ใช้จึงเป็นการอยู่ร่วมกับน้ำและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากการติดตั้งระบบป้องกันน้ำท่วม ยังมีการเฝ้าตรวจสอบประตูน้ำโดยเจ้าหน้าที่ ดูพยากรณ์อากาศ อีกทั้งยังปรับระบบให้เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของโบราณสถานแต่ละแห่ง 

แนวคิดของงานอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม

“แนวทางการอนุรักษ์ที่วัดไชยฯ คือการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่อยู่กับตัววัสดุเพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่อาจมีวิธีการที่ดีกว่าได้เข้ามาศึกษา เราไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาบิดเบือนสิ่งเหล่านี้ แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นภาพสันนิษฐานเข้ามาแทนที่” – คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

คุณวราภรณ์อธิบายหลักการของการทำให้โบราณสถานมีสภาพดียิ่งขึ้นว่ามีอยู่ด้วยกันหลายกระบวนการ การปรับใช้ขึ้นอยู่กับโบราณสถานแต่ละแห่ง เช่น สำหรับโบราณสถานที่ยังคงมีวัตถุประสงค์การใช้งานแบบเดิม การคงลักษณะดั้งเดิมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะเดียวกัน โบราณสถานอย่างวัดไชยฯ ที่ไม่ได้ถูกใช้งานในแบบเดิมแล้ว การเสริมความมั่นคงแข็งแรงจึงเป็นแนวทางที่ถูกเลือกใช้ ดังนั้นการทำงานหารือร่วมกันกับกรมศิลปากร และหาข้อตกลงวิธีที่ดีที่สุด และบันทึกอย่างละเอียดว่าได้ลงมือทำอะไรไปบ้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง 

คุณชญาดากล่าวว่าการทำงานอนุรักษ์ เปรียบเสมือนการถกเถียงกับตนเองตลอดเวลาว่าเราควรจะอนุรักษ์มากน้อยขนาดไหน และต้องคำนึงถึงโจทย์และหลักฐานประกอบการทำงานอยู่เสมอ เช่น ที่วัดไชยฯ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ครบพร้อมทุกงานช่าง ทั้งงานไม้ งานอิฐ งานปูน งานรัก งานกระจก ปัจจุบันเป็นโครงสร้างของอิฐและปูนครอบ และยังมีรอยตะปูที่ปรากฎอยู่รอบตัววัดที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าส่วนชั้นนอกของวัดไชยฯ คืออะไร เดิมทีเคยเป็นแผ่นจังโกแบบภาคเหนือหรือไม่ สิ่งที่ทำได้คือการบันทึกข้อมูลในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด และรอเทคโนโลยีที่ดีกว่าในอนาคตเพื่อเข้ามาช่วยศึกษาถึงความเป็นจริงในอดีต

คุณเจฟฟ์อธิบายถึงความสำคัญของการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์ในอดีต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุที่ใช้ในการสร้างวัดไชยฯ เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่อยู่ในสภาพอากาศแบบมรสุม (monsoon environment) วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมักจะประสบปัญหาเรื่องความชื้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายเมื่อผนวกกับการที่วัดไชยฯ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดี แต่ทุกฝ่ายเห็นควรให้ดำรงอยู่ต่อไปในลักษณะนั้น ดังนั้น หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำให้วัดไชยฯ มั่นคงต่อไปในลักษณะแหล่งเรียนรู้ แม้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการสร้างวัดขึ้นมาในอดีต

เทคนิคการอนุรักษ์

“เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับช่างอนุรักษ์ที่ได้ทำ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากมายระหว่างองค์กร” – คุณนฤดล ดีฉาย

คุณสุกัญญาเห็นว่า ความพิเศษของโครงการที่วัดไชยฯ คือการได้ทำงานตามอุดมคติ เช่น การไม่มีกำหนดเรื่องเวลา ทำให้สามารถลงลึกไปถึงรายละเอียดที่มีความละเอียดอ่อน และได้มาตรฐานทางฝีมือช่าง นอกจากนี้ งานที่วัดไชยฯ ยังเป็นเหมือนวิทยาลัยที่สอนเรื่องการอนุรักษ์เนื่องด้วยความหลากหลายของเนื้องาน ที่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

คุณวราภรณ์อธิบายว่า เนื่องจากพื้นที่แต่ละพื้นที่ขององค์เมรุที่วัดไชยฯ นั้นไม่เหมือนกันเลย สูตรปูนที่นำมาใช้จึงต้องปรับไปตามพื้นที่ เพื่อวัสดุที่เหมาะสมที่สุด คุณโจเซฟีน ดิลลาริโอ ชาวอิตาลี อดีตหัวหน้านักอนุรักษ์ประจำกองทุนโบราณสถานโลก ได้ทดลองทำบล็อคขึ้นมา 3 บล็อค ร่วมกันคิดกับช่างในท้องถิ่น เช่น ป้ามะลิ หรือ คุณมะลิ ชุ่มชูบุญ ที่มีความรู้และประสบการณ์  ทดลองส่วนผสมขึ้นมาเป็นสูตรที่มีสัดส่วน และปริมาณที่เข้ากันกับวัสดุดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด เพื่อคงหลักการเสริมสร้างความแข็งแรงของโบราณสถาน ดั่งผู้ใหญ่สูงวัยที่จะต้องคงสภาพยืดอายุให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

คุณนฤดลกล่าวว่า ส่วนสำคัญของการทำงาน คือการทำความเข้าใจกับช่างสมัยก่อน ว่าเทคนิคใหม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เนื่องจากช่างในโครงการต่างก็มีความหลากหลายไปด้วยประสบการณ์และช่วงอายุ คุณนฤดลยกตัวอย่างเทคนิคใหม่ที่ได้เรียนรู้ เช่น การวัดค่าความชื้นที่ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนน้ำในไม้ หรือค่า Equilibrium Moisture Content (EMC) ที่มักจะไม่ถูกคำนึงถึง กล่าวคือ หากค่าความชื้นในไม้ต่างกันมาก จะทำให้ไม้เกิดการบิดตัวและโก่งตัวได้ ในโครงการได้มีการใช้เครื่องวัดความชื้นในเนื้อไม้ มีลักษณะเป็นเครื่องวัด ที่ปักเข้าไปในเนื้อไม้และส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไป เพื่อวัดค่าระดับของความชื้นให้ชัดเจน โดยเทคนิคและหลักการเหล่านี้เป็นหนึ่งในวิธีการประเมินว่าวัสดุใหม่และวัสดุเก่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในเรื่องเชิงทักษะ คุณธนกร แก้วแหวน ช่างแกะประจำของตำบลบ้านใหม่ รับหน้าที่แกะประจำยามของวัดไชยฯ โดยอิงแบบของกรมศิลปากร อีกตัวอย่างคือการใช้สารเคมีเฉพาะทางในการทำงานอนุรักษ์ ที่สามารถช่วยยืดอายุของวัสดุออกไปได้

การต่อยอดฝีมือของช่างอนุรักษ์ และการทำให้โครงการอนุรักษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ของสาธารณชน

“งานในวัดไชยฯ เป็นเหมือนวิทยาลัยที่สอนเรื่องการอนุรักษ์ เนื่องด้วยความหลากหลายของเนื้องาน จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน” – คุณสุกัญญา เบาเนิด

คุณสุกัญญากล่าวว่า หลังจากที่ WMF ร่วมทำงานตั้งแต่เมรุ C3 ไปจนเสร็จถึงเมรุ C7 ในปีหน้า หน่วยงานที่จะต้องเข้ามารับช่วงต่อคือกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างเมรุอีก 3 หลังรวมถึงพระปรางค์องค์ใหญ่ จึงต้องคิดถึงการรักษามาตรฐานการอนุรักษ์ และการดำเนินงานต่อบนพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาบุคลากร เช่น การคำนึงถึงช่างอนุรักษ์ที่จะกลับมาอยู่กับกรมศิลปากร และสร้างงานที่เป็นมาตรฐานการอนุรักษ์ในแหล่งโบราณสถานอื่นๆ ต่อไป

ในส่วนของโครงการยกระดับฝีมือของช่างอนุรักษ์ กรมศิลปากรมีโครงการร่วมกับ UNESCO Bangkok จัดหลักสูตรอบรมช่างอนุรักษ์ที่วัดกระจี โดยเริ่มจากการทำงานโบราณคดีก่อนเพื่อศึกษาองค์ความรู้ทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ เช่น เริ่มจากการสงวนรักษา เสริมความมั่นคง หรือในบางกรณีจะไปถึงการบูรณะปฎิสังขรณ์ 

โครงการที่วัดกระจีและวัดไชยฯ เป็นโครงการที่ทำขึ้นมาขนานกันไป วัดทั้งสองเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนของช่างอนุรักษ์ วัดกระจีมีขนาดเล็ก และมีองค์ประกอบของงานอนุรักษ์ที่ครบถ้วน เช่น วัชพืชที่ขึ้นตามตัวเจดีย์ ด้วยบริเวณที่เล็ก ทำให้สามารถทำงานได้ในเวลาที่กำหนดไว้ และด้วยสถานที่ตั้งในรั้วสถานีตำรวจอยุธยาจึงมีมิติด้านการทำงานร่วมกันกับชุมชน เริ่มจากงานการขุดค้นทางโบราณคดี การขุดแต่ง กรมศิลปากรและ UNESCO Bangkok ก็ปรึกษาหารือกันในเรื่องของการวางหลักวิชา 7-8 วิชาที่ครบถ้วนในกระบวนการอนุรักษ์ การขุดค้นขุดแต่งลงไปที่วัดกระจี ทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งสำหรับอยุธยาเป็นเรื่องพิเศษเนื่องจากพิธีกรรมในยุคสมัยนี้มักจะเป็นการเผา เก็บอัฐิในภาชนะ แต่สิ่งที่พบเป็นโครงกระดูกที่น้อยครั้งจะค้นพบแบบนี้  แต่ในจุดนี้ คือผู้คนจริงๆ ของอยุธยาที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณนั้น มีการศึกษาวิจัยกำหนดอายุ ทดลองการออกแบบการบูรณะ การควบคุมงาน เช่น ถ้าจะให้บริษัทมารับช่วงการทำงาน จะมีการควบคุมงานได้อย่างไร ความรู้จากวัดไชยฯ ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาปรับใช้กับกระบวนการเหล่านี้

ในเรื่องของวัสดุศาสตร์ วัดกระจีเป็นโรงเรียนที่สอนให้ช่างอนุรักษ์มีองค์ความรู้ เตรียมพร้อมสำหรับโลกของความเป็นจริง ที่เราอาจจะต้องจ้างบุคลากรมาทำงาน มีฝ่ายเอกชนเข้ามาร่วม การฝึกอบรมโรงเรียนวัดกระจีจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้องค์ความรู้กระจัดกระจายและหายไป ทางกรมศิลปากรมีการจัดพิมพ์เอกสารเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ กระบวนการที่เกิดขึ้น ชื่อ “บันทึกการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์วัดกระจี” เขียนจากประสบการณ์จริงของช่างอนุรักษ์ 

คุณวราภรณ์กล่าวว่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังสามารถเข้าชมได้ ระหว่างที่งานอนุรักษ์กำลังดำเนินอยู่ การจะทำให้สถานที่ทำงานอนุรักษ์เป็นห้องเรียนการอนุรักษ์ จึงสามารถแบ่งประเภทการทำงานออกได้เป็น 3 ส่วน นอกเหนือจากการทำงานอนุรักษ์ที่ไซต์งาน หนึ่ง การจัดอบรมที่ทำกับกรมศิลปากร เชื่อมโยงไปกับโบราณสถานอื่นๆ ในอยุธยาและในประเทศไทย และมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้ สอง คือการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานอนุรักษ์กับนักศึกษา ดูว่าคณะที่เข้ามามีความสนใจในแขนงใด เช่น ถ้าเป็นคณะวิทยาศาสตร์ ก็จะเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ถ้าเป็นเกี่ยวกับสถาปัตย์ ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเช่น คุณ นฤดม แก้วชัย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง photogrammetry (โฟโตแกรมเมตรี) หรือ เทคโนโลยีการสำรวจ และเก็บข้อมูลลักษณะทางกายภาพของอาคารผ่านภาพถ่ายจากมุมมองต่างๆ เพื่อการจำลองโมเดลสามมิติ เข้ามาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการทำให้ไซต์งานอนุรักษ์มีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักศึกษาและคนทั่วไป เมื่อเข้าไปดูงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงสารเคมีที่ใช้ก็มีความปลอดภัย และมีการบันทึกขั้นตอนการทำงานและการแสดงภาพสันนิษฐานผ่านเพจเฟสบุ๊ค (Facebook: ห้องเรียนอนุรักษ์) เพื่อประกอบกับหลักการอนุรักษ์ที่ไม่ใช่การปฎิสังขรณ์

ถอดบทเรียนจากการทำงาน

“งานอนุรักษ์เป็นงานสหสาขาวิชาอย่างแท้จริง และในอุดมคติไม่ควรมีระยะเวลามาจำกัด” – คุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์  

คุณวราภรณ์กล่าวว่า บทเรียนจากการทำงานที่วัดไชยฯ คือการได้เรียนรู้ว่างานอนุรักษ์ไม่ใช่งานที่จะทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว และยอมรับว่าเรารู้ไม่หมดทุกเรื่อง ทั้งเทคนิคโบราณ ช่างโบราณ กรรมวิธีการทำงาน จะต้องมีการปรึกษากับทางกรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณทรงยศ วงศ์ประพฤติดี ผู้ทรงความรู้เรื่องงานจิตรกรรมที่ให้คำแนะนำเรื่องการใช้สี และสีไทยโบราณ รวมถึงเรื่องวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มีการปรึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรให้ช่วยหาน้ำมันหอมระเหยที่เป็นมิตรต่อผู้ปฎิบัติงาน นักท่องเที่ยว และสัตว์ จากที่เคยใช้แบบที่เป็นสารเคมี ตอนนี้โครงการนับได้ว่าเป็น green architecture ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการทำงานกับองค์กรนานาชาติ ทำให้ได้เรียนรู้หลักการอันเข้มข้น ที่ต้องนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยอย่างเหมาะสม การอนุรักษ์ค่อนข้างขัดกับสามัญสำนึกมนุษย์ที่ชอบของใหม่ อะไรที่ดูแล้วเจริญหูเจริญตา เนื่องจากหลักการคือต้องการอนุรักษ์ความเป็นของแท้ และส่งต่อสิ่งนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป

คุณชญาดาเห็นว่า บทเรียนหลายๆ อย่างมีความเกี่ยวเนื่องกับการเคารพในวัสดุที่อยู่มาตั้งแต่ต้น และการเคารพคนอนุรักษ์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ผู้เชี่ยวชาญในสหสาชาวิชา และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อระดมความคิด อันทำให้ตระหนักได้ว่างานอนุรักษ์เป็นงานสหสาขาวิชาอย่างแท้จริง และในอุดมคติไม่ควรมีระยะเวลามาจำกัด 

คุณเจฟฟ์กล่าวว่า หลังจากที่โครงการได้ดำเนินมาครบเวลา ตัวโบราณสถานเป็นหลักฐานของการทำงาน แต่การให้ทักษะที่จำเป็นอย่างแท้จริงกับช่างอนุรักษ์ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และองค์ความรู้เหล่านี้ควรที่จะได้รับการถ่ายทอดต่อไป 

 คุณสุกัญญาทิ้งท้ายว่า ในระยะยาว การเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโบราณสถานแห่งนี้จะรักษามิติของการอนุรักษ์เอาไว้ ไม่ว่าคนที่เข้ามาจะเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ หรือเรื่องแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ก็ต้องมาดูที่วัดไชยฯ เป็นสถานที่เรียนรู้ที่จับต้องได้ หรือจะเป็นการแสดงออกถึง soft power ในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่จากความนิยมในละครและภาพยนตร์ รวมไปถึงการเปิดให้เข้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน พอมีคนสนใจเกี่ยวกับการชมโบราณสถานเยอะๆ ถือเป็นโอกาสให้ความรู้เรื่องการปฎิบัติตัวเองในการเข้าชมโบราณสถานไปด้วย