Back to news

23 March 2023

‘ที่รกร้าง’ ไม่มีอยู่จริง

สัมภาษณ์พิเศษ รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพฤกษศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมพืชบนสันดอนทรายชายหาดในภาคใต้ของประเทศไทย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในงานเสวนาของแผนกพิทักษ์มรดกสยาม เรื่อง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562: ที่รกร้างไร้ประโยชน์จริงหรือ ? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ ได้จุดประกายให้เราหันมาตั้งคำถามและทบทวนความหมายของคำว่า ที่รกร้าง กับคำว่า ป่าเสื่อมโทรม ดูใหม่ และได้เปิดประเด็นปัญหาสำคัญๆ เอาไว้หลายประเด็นด้วยกัน จนในที่สุดคณะผู้จัดงานจึงได้ขอให้อาจารย์กรุณาพาสมาชิกของสยามสมาคมฯ ไปชมตัวอย่างพื้นที่บางแห่ง ได้แก่ ป่าพรุและป่าบนสันดอนทรายชายหาดเพื่อให้เห็นกับตาว่าคุณค่าและหน้าที่ของป่าเหล่านี้มันคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทความนี้จึงเป็นการรวบรวมเนื้อหาสาระในส่วนของอาจารย์ กิติเชษฐ์ที่ได้กล่าวในงานเสวนา ประกอบกับที่อาจารย์ได้ขยายความเพิ่มเติมระหว่างการลงพื้นที่ด้วย

ประเด็นที่แรกที่อาจารย์เลือกเปิดกลางวงสนทนาก็คือ ที่รกร้าง มีอยู่จริงหรือไม่ คำตอบคืออะไรอยู่ที่เราใช้อะไรเป็นตัวตั้ง  ถ้าเราเอาคนเป็นตัวตั้ง ดูตามความหมายในพจนานุกรมก็จะพบว่า คำว่า ‘รก’ หมายถึง  ของที่งอกขึ้นยาวไม่เป็นระเบียบ  ‘ร้าง’ หมายถึง ทอดทิ้งไว้ ป่าที่มีต้นไม้ขึ้นไม่เป็นระเบียบไม่มีการจัดการและถูกทิ้งไว้เฉยๆ  จึงถูกมองว่าเป็นป่ารกร้าง แต่ในทางนิเวศวิทยา ไม่มีที่ไหนเป็นป่ารกร้าง เพราะเขาเอาระบบนิเวศเป็นตัวตั้ง เขาศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจสังคมพืช โดยไม่เข้าไปทำหน้าที่ตัดสินคุณค่า หรือไปทำอะไรมากกว่านั้น

พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ บอกว่า คนที่ปล่อยที่ดินให้รกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ ควรจะต้องเสียภาษีมากกว่าคนที่พัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ หากนักนิเวศวิทยาพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ตามธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมันเองตามควรแก่สภาพอยู่แล้วเล่า คงไม่มีที่ใดที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอีกเลย เพราะที่ใดก็ตามที่ถูกทิ้งไว้ ไม่นานก็จะมีต้นไม้ และกลายสภาพเป็นป่าได้ทั้งนั้น และป่าทุกป่าต่างก็มีประโยชน์ตามสภาพของมัน

เพื่อจะที่ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อาจารย์พาเราไปชมป่าชุมชนคีรีวงศ์ ในอำเภออ่าวลึกน้อย จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นป่าพรุธรรมชาติรอบเขาหินปูนที่ชุมชนช่วยกันตั้งคณะกรรมการดูแล มีเนื้อที่ราว 340 ไร่ เป็นป่าที่ไม่ค่อยถูกรบกวนโดยมนุษย์ นอกเสียจากการสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติเท่านั้น เราจึงเห็นความรกแบบธรรมชาติที่ตอบสนองหน้าที่ของมันเองก็คือเป็นที่ซับน้ำจืดที่ไหลมาจากรอยแตกรอยแยกของเขาหินปูน น้ำพวกนี้จะไหลลงไปเติมระดับน้ำในชั้นดิน เราสามารถเห็นธารน้ำเล็กๆ ตื้นๆ อยู่ในหลายๆ จุดในป่า ดินบางส่วนแห้ง บางส่วนก็ชุ่มน้ำ น้ำที่ถูกซับเอาไว้หล่อเลี้ยงสังคมพืชตรงนี้ไว้ตลอดปี เราพบ เสม็ดขาว เสม็ดชุน สมอภิเภก ช้างแหก ต้นชก ชมพู่น้ำ เอื้องพร้าว เฟิร์น หวายชนิดต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ป่านี้เป็นที่อาศัยของผีเสื้อ นก งู กระรอก ลิง มนุษย์เองก็เข้าไปศึกษา เรียนรู้และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า และใช้น้ำที่เป็นทรัพย์อยู่ในดินมาทำประโยชน์ได้ตลอดปีโดยไม่จำเป็นต้องทำฝายด้วยซ้ำ

อาจารย์ยกตัวอย่างป่าแห่งอื่นที่คนอาจจะมองว่าเป็นที่รกร้าง อย่างที่ สปก. แห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเต็มไปด้วยไม้หายากที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ต้นห้วยชินศรี เสลา กระเทียมนา ปัจจุบันที่ตรงนี้ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว เพราะพอกฎหมายนี้ออกมาเจ้าของก็ถมที่ทันที่ หนองน้ำจืดในทะเลสาบสงขลา ก็เช่นกัน ตอนนี้โดนถมหมดแล้ว การพัฒนาโดยดูดน้ำออกจากพื้นที่ที่เป็นป่าพรุ การถมดิน หรือการขุดบ่อน้ำมากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในดินและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่ต้องสงสัย

เช่นเดียวกันกับป่าชายหาดที่คนยังไม่ให้ความสำคัญกันมากนัก ทั้งป่าละเมาะ และป่าชายหาด มักถูกมองว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม รกร้าง เพราะเห็นว่าเป็นป่าแห้งๆ ดูแล้วเหมือนไม่มีอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วมีความสำคัญมาก ถ้าเราเข้าใจว่าสันดอนทรายชายหาดสำคัญอย่างไร เราก็จะเข้าใจความสำคัญของพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายหาดไปด้วย ในอดีต เป็นธรรมดาทีเดียวที่เมืองโบราณบนคาบสมุทรไทยมีพัฒนาการขึ้นมาบนสันดอนทราย เพราะสันดอนทรายเป็นชัยภูมิที่ดี แล้วยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำจืด ซึ่งเป็นประโชยน์ต่อการทำเกษตรกรรมด้วย

ธรรมชาติปกป้องสันดอนทรายและความชื้นของมันด้วยการออกแบบพืชคลุมหน้าดินมาให้บริเวณชายหาดแบบหนึ่ง บริเวณป่าละเมาะแบบหนึ่ง บริเวณที่ชุ่มน้ำอีกแบบหนึ่ง ป่าชายหาดที่เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์ที่สุดที่อาจารย์พาไปชมอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นป่าที่หาชมได้ยากยิ่ง เพราะชายหาดที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เต็มไปด้วยต้นสนทะเลเรียงรายตลอดแนวหาด อาจารย์มองว่าสนทะเลเป็นพืชเอเลี่ยน เพราะพอมีสนทะเลแล้วพืชพื้นถิ่นอื่นๆ อยู่ไม่ได้ เจริญเติบโตไม่ได้ แต่ที่อุทยานแห่งนี้ เราได้เห็นชายหาดที่ยังมีผักบุ้งทะเล ถั่วพร้า ผักลิ้นห่าน กกทะเล เตยทะเล รักทะเล เตยปาหนัน ท้าวยายม่อม พลับพลึงทะเล ลดหลั่นกันเป็นชั้นไม่สูงนัก พืชพื้นถิ่นเหล่านี้นอกจากเป็นด่านหน้าคลุมชายหาด รับแรงปะทะจากลมทะเลแล้ว ยังเป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร

ลึกเข้าไปจากชายหาดอีกสักหน่อยเป็นสันดอนทราย เป็นเนินทรายที่สูงขึ้นมา แค่เราลองเขี่ยทรายดู ก็จะเห็นสีของทรายที่บ่งบอกว่ามีความชื้นซ่อนอยู่ข้างใน แต่ก็ซ่อนได้ไม่มิดเพราะเราสามารถพบเห็นเฟิร์น มอส และกล้วยไม้ ได้ง่ายๆ ภายในพื้นที่ราว 2 ตารางกิโลเมตร เราสามารถพบเจอกับพันธุ์ไม้กว่า 70 ชนิด ตัวอย่างเช่น จุกโรหิณี หัวร้อยรู โทะ หม้อข้าวหม้อแกงลิง เสม็ดขาว ปลาไหลเผือก ลำเทง ย่านลิเภา พญาไม้ ปรง เข็ดตะขาบ ตานส้าน เป็นต้น  แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมาก สันทรายจะสลับกับที่ชุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำในที่ราบต่ำ เมื่อฝนตกมันจะทำหน้าที่กักน้ำ ชาร์จความชุ่มชื้นให้กับสังคมพืชบนสันดอนทราย ถ้าเราเข้าใจระบบการกักเก็บน้ำของสันดอนทราย เราก็จะไม่ถมที่ชุ่มน้ำ (wetland) ไม่พัฒนาโดยเอาสนทะเลมาปลูกเป็นป่า เพราะป่าเกิดทีหลัง น้ำเกิดก่อน การปลูกป่าโดยหวังให้มีน้ำออกมาเป็นความคิดที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกป่าสน ราวกับเป็นการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั้นดีออกจากทราย เป็นการทำลายโครงสร้างของนิเวศสันดอนทรายไปโดยสิ้นเชิง

ในบางประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เขาบังคับให้คนต้องใส่ใจธรรมชาติอย่างจริงจัง โดยมีบัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย อาจารย์กิติเชษฐ์ยกตัวอย่างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบ Biwa ในจังหวัด Shiga ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอนุญาตให้มีการก่อสร้าง หรือการพัฒนารอบทะเลสาบได้ แต่ผู้พัฒนาจะต้องเก็บตัวอย่างสังคมพืชที่อยู่ในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างนั้นไปอนุบาลเอาไว้ก่อน ซึ่งในญี่ปุ่นเขาจะมีบริษัทที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางรองรับอยู่ และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ต้องนำพืชที่เอาไปอนุบาลไว้กลับมาปลูกในบริเวณเดิม เป็นกฎหมายพิเศษของทะเลสาบ Biwa ยังมีตัวอย่างดีๆ จากอีกหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในการรักษาที่รับน้ำ (flood plain) เป็นอย่างมาก เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำดานูป เพราะการรักษาแม่น้ำเท่ากับเป็นการรักษาสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำด้วย ในประเทศไทยไม่ค่อยมีการอนุรักษ์ที่รับน้ำ  ส่งผลเสียต่อความยั่งยืนในการเก็บกักน้ำไว้ในชั้นดิน ทั้งๆ ที่น้ำในแม่น้ำ 80 – 90 % เป็นน้ำจากใต้ดินหรือน้ำบาดาลทั้งนั้น

จากกรณีศึกษาต่างๆ ที่อาจารย์ได้นำชม ทำให้เราพบว่าคำนิยาม ‘ที่ดิน’ ในกฎหมายฉบับนี้มีนัยยะสำคัญ เพราะในกฎหมายนี้นับที่ดินทุกรูปแบบ ทั้งที่ดินบนภูเขาและที่มีน้ำด้วย ไม่เว้นพื้นที่ใดที่ทำหน้าที่ตามสมควรแก่สภาพตามธรรมชาติเอาไว้เลย แถมภาระในการชี้นำการปลูกพืชเพื่อลดหย่อนภาษี ไปตกอยู่กับข้าราชการระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้เรื่องของธรณีสัณฐานและพันธุ์ไม้

อาจารย์กิติเชษฐ์ได้ทิ้งท้าย โดยเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดย ประการที่หนึ่ง ปรับแก้นิยามของ ‘ที่ดิน’ ในพระราชบัญญัติ และให้มีข้อยกเว้นสำหรับพื้นที่ที่ไม่ควรต้องไปพัฒนา แต่ควรเก็บไว้ตามธรรมชาติมากกว่า ควรจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมในกฎหมายลูก ประการที่สอง ต้องส่งเสริมการศึกษาด้านนิเวศวิทยา และชีววิทยาอย่างจริงจัง เราขาดองค์ความรู้ เราไม่มีข้อมูลระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ ก็เพราะเราขาดการศึกษาเรื่องธรรมชาติ เราขาดการสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้เป็นอย่างมาก เราไม่เข้าใจเรื่องธรณีสัณฐานและสังคมพืชรูปแบบต่างๆ ว่ามันทำหน้าที่ตามธรรมชาติอย่างไรอยู่ ทำให้เรามีมุมมองที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และตัดสินใจผิดพลาด บ่อยครั้งที่เราเห็นการออกแบบโครงการต่างๆ ที่มีเจตนาดีต่อสังคมมนุษย์และธรรมชาติ แต่กลับเป็นการทำลาย สุดท้ายแล้วทั้งคำว่า ‘อนุรักษ์’ และคำว่า ‘พัฒนา’ ให้ผลลัพธ์ต่อธรรมชาติในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน คือการไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติจนมันไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ การอนุรักษ์ป่าที่ดีที่สุด ไม่ใช่การปลูกป่า  แต่คือการอนุรักษ์ถิ่นฐานหรือ Habitat ของสังคมพืชเอาไว้ แล้วปล่อยให้มันเติบโตผ่านกระบวนการคัดสรรของธรรมชาติเอง และการพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ รู้จักและเข้าใจในธรรมชาติอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะสามารถกำหนดนโยบายที่สำคัญต่างๆ อย่างการวางผังและพัฒนาเมือง หรือภาษีที่ดิน แล้วเราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เองอย่างยั่งยืนได้