กลายเป็น-มลายู: บทสำรวจอัตลักษณ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน
เกี่ยวกับการบรรยาย
การบรรยายพิเศษในหัวข้อ กลายเป็นมลายู: บทสำรวจอัตลักษณ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน วางอยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจและข้อถกเถียงว่าด้วยความเป็นมลายูในรัฐไทย ผู้บรรยายจะนำเสนอการทำงานผ่านตัวกลางการรับรู้เชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnographic sensorium) หรือความพยายามเข้าใจโลกถูกอำพรางด้วยมายาคติทางเชื้อชาติและศาสนา ที่มิอาจจัดประเภทได้ตามกรอบคิดทฤษฎี
การบรรยายมุ่งไปที่การถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของคนมลายูที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ชาตินิยมไทยและโลกมลายู ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าทั้งสองสิ่งนี้ดำรงอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยน ขัดแย้ง เคลื่อนไหว และส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน ผู้ฟังจะสามารถค้นพบข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากมายที่ถูกสานเกลียวด้วยเรื่องเล่า, ความเชื่อ, พิธีกรรม ตลอดจนจินตนาการและความรู้สึกที่คนมลายูมีต่อโลก บางเรื่อง เกินกว่าจะเชื่อถือได้หากดำเนินตามครรลองของหลักการและระบอบของเหตุผลจากมุมมองแบบนักประจักษ์นิยม
กลายเป็น-มลายู ฯ วางอยู่บนสมมติฐานที่ว่าพรมแดนและความหมายของความเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยการรั่วไหลและความสามารถในการก่อรูปตัวตนที่แตกต่างกันภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างทางการเมือง การกลายเป็น-มลายู ฯ ในลักษณะนี้คือการก้าวไปสู่ความเป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากจินตนาการของความเป็น “มนุษย์มลายู” และ “มนุษย์ไทย” ที่เคยถูกห่อหุ้มอย่างปลอดภัย ทั้งยังเป็นการตั้งคำถามและข้อถกเถียงระหว่างรุ่น, เพศสภาพ, ชนชั้น, และระดับความภักดีต่อรัฐ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อในโลกที่แตกต่างกันออกไป แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน
หมายเหตุ การบรรยายในครั้งนี้มาจากหนังสือเรื่อง กลายเป็นมลายู: บทสำรวจว่าด้วยอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในรัฐไทยและการค้นหาความหมายแห่งตัวตน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ยิปซี ปี พ.ศ. 2564
About the speaker
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มีความสนใจในภาคใต้ของประเทศไทยและคาบสมุทรมาเลย์, เอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, แนวคิดมานุษยวิทยาว่าด้วยผัสสะ การระลึกรู้ และการเมืองของผัสสะ อาจารย์ศรยุทธเคยเป็นนักวิชาการเยี่ยมเยือน ในสังกัดของสถาบันฮาร์วาร์ด – เยนชิง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard – Yenching Institute, Harvard University) ระหว่างปี 2019-2022 ปัจจุบัน และยังเป็นนักวิจัยในระดับปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อและการทัศนา มหาวิทยาลัยเสรีแห่งกรุงเบอร์ลิน อาจารย์ศรยุทธกำลังเขียนงานในหัวข้อว่าด้วยภูมิทัศน์ของการเมืองและผัสสะของคนอินเดียทมิฬ (ตามิล) เมืองกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
When
Where
Admission
ไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณพิณทิพย์ เบอร์ 02 661 6470-3 ต่อ 203 หรืออีเมล pinthip@thesiamsociety.org