เลือกหน้า

ประวัติสยามสมาคมฯ

เกี่ยวกับเรา

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมของไทยที่มีขอบเขตงานระดับสากล ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สยามสมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้คติพจน์ที่ว่า “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” และพร้อมต้อนรับทุกคน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ในการเข้าเยี่ยมชมสถานที่และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม

รางวัลที่สยามสมาคมได้รับ

พ.ศ. 2544

อาคารของสมาคมจำนวน 3 หลังได้รับการประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

พ.ศ. 2555

สยามสมาคมฯ ได้รับรางวัลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรม แห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2556

บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2447 - 2547 ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติโดย UNESCO

พ.ศ. 2557

ห้องสมุดของสมาคม ได้รับรางวัล ห้องสมุดเฉพาะดีเด่น ประจำปี 2557 โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความเป็นมา

พ.ศ. 2447 ปีแห่งการก่อตั้ง

สยามสมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 โดยกลุ่มนักวิชาการชาวสยาม และชาวต่างชาติ ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี โดยมติในการประชุมของสมาคมซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2468) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็น องค์บรมราชูปถัมภก พระองค์แรกของสยามสมาคมฯ ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับเป็น องค์บรมราชูปถัมภก ของสมาคม โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ดำรงตำแหน่งองค์อนูปถัมภก และ/หรือ องค์นายกกิตติมศักดิ์) ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประธานหอสมุดแห่งชาติ ยังเคยทรงได้รับเลือกเป็น องค์อนูปถัมภก และ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เพื่อเชิดชูความรู้ความเชี่ยวชาญอันโดดเด่นของท่านในด้านวรรณกรรม รวมถึงความกรุณาของท่านที่ได้อนุญาตให้สมาชิกสยามสมาคมฯในยุคแรก ได้ใช้หนังสือจำนวนมากที่ท่านได้สะสมไว้ในการศึกษาหาความรู้

ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการผู้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2447 ที่ประชุมได้มีมติกำหนดให้ “วัตถุประสงค์ของสยามสมาคมฯ คือ เพื่อศึกษาค้นคว้าและส่งเสริมศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวรรณคดี ที่เกี่ยวข้องกับสยามและประเทศเพื่อนบ้าน” ภายในเดือนแรกหลังการก่อตั้ง มีผู้สมัครเป็นสมาชิกทั้งชาวสยามและชาวต่างชาติ รวมทั้งสิ้น 103 คน

ในเวลาเดียวกันนั้น เมื่อได้ทราบข่าวการจัดตั้งของสยามสมาคมฯ สมาคมวิชาการระดับนานาชาติหลายแห่ง เช่น École Française d’Extrême-Orient, Royal Batavian Society of Arts and Sciences, Royal Asiatic Society และ Società Asiatica Italiana ต่างให้การสนับสนุนสมาคมอย่างรวดเร็ว สิ่งพิมพ์ของสมาคมวิชาการเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญของหนังสือในห้องสมุดสยามสมาคมฯในยุคแรกเริ่ม

ตราสัญลักษณ์ของสยามสมาคมฯ เป็นรูปหัวช้างมีพวงมาลัยคล้องที่งวง ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2469 พร้อมคติพจน์ประจำสมาคมที่ว่า “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” หรือ “Knowledge Gives Rise to Friendship” คติพจน์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้ทรงคิดขึ้น พร้อมทั้งทรงอธิบายไว้ว่า “คติพจน์นี้สื่อถึงแนวคิดของการค้นหาความรู้ อันเป็นสายใยที่เชื่อมรวมสมาชิกของสมาคมทั้งชาวสยามและชาวต่างชาติเข้าด้วยกัน ด้วยเจตนาของการร่วมมือทำงานด้วยกันฉันมิตร”

เมื่อ พ.ศ. 2474 นายอะหมัด อิบราฮีม นานา (Ahamad Ebrahim Nana) ได้มอบที่ดินขนาด 3 ไร่ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 131 ถนนอโศก-มนตรี (หรือถนนสุขุมวิท ซอย 21 ในปัจจุบัน) ให้แก่สยามสมาคมฯ อาคารของสมาคมซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่นี้แต่แรกเริ่มประกอบด้วยหอประชุมและห้องสมุด ออกแบบโดย มร.เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) สถาปนิกชาวอังกฤษ ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นที่ตั้งของสยามสมาคมฯ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คลิกที่แกลลอรี่ด้านซ้ายเพื่ออ่านข่าวพิธีเปิด

บุคคลและเหตุการณ์สำคัญ

ในช่วงหลายทศวรรษต่อมาหลังการก่อตั้ง กิจการของสยามสมาคมฯ ได้เจริญเติบโตขึ้นจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เปิดโอกาสให้นักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการอย่างเปิดกว้าง การเขียนบทความวิชาการและสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงพัฒนากิจกรรมและงานอื่น ๆ ตัวอย่างนักวิชาการคนสำคัญที่เคยร่วมงานกับสยามสมาคมฯ อาทิเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ศาสตราจารย์ ฌอร์ฌ เซแด็ส (George Cœdès) (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่าง พ.ศ. 2468 - 2573) พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่าง พ.ศ. 2483 - 2487 และ พ.ศ. 2490 - 2508) พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2490 และ พ.ศ. 2512 - 2519) ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่าง พ.ศ. 2532 - 2537) ดร.ประเสริฐ ณ นคร นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ มร. ยัน เจ. โบเลส (Jan J. Boeles) มิสเอ็ดนา ซาราห์ โคล (Edna Sarah Cole) ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต อาจารย์ เทิม มีเต็ม พระยาอนุมานราชธน ศาสตราจารย์ ไมเคิล สมิธีส์ (Michael Smithies) ดร.เต็ม สมิตินันทน์ อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2524) และ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นต้น

เหตุการณ์สำคัญคราวหนึ่งของสยามสมาคมฯ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2533 เมื่อคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการสร้างรอยพระพุทธบาททองคำ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา รอยพระพุทธบาทจำลองนี้หล่อขึ้นที่โรงหล่อในย่ายฝั่งธนบุรีโดยใช้ทองคำหนัก 35 กิโลกรัม ตามแบบหุ่นขี้ผึ้งของเดิมที่มีการสร้างไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาด 170 เซนติเมตร x 70 เซนติเมตร เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก รอยพระพุทธบาทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2537

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญของสมาคม คือการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติใกล้กับหอประชุม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสยามสมาคมฯ อาคารแห่งนี้ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตัวอาคารออกแบบให้มีห้องสมุด สำนักงาน ห้องบรรยาย และห้องประชุม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเฉลิมพระเกียรติ และต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541

นอกจากนั้น สยามสมาคมฯ ยังได้รับพระราชทานวโรกาสให้รับเสด็จฯ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศในหลายคราว เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2477 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) และสมเด็จพระราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเข้าร่วมฟังการบรรยายของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี อิงกริดและสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริคที่ 9 แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2505 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2519

เมื่อ พ.ศ. 2556 แผนงานความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนบันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ระหว่าง พ.ศ. 2447 – 2547 ในทะเบียนความทรงจำแห่งโลกระดับนานาชาติ โดยได้บรรยายไว้ว่า “เวลา 100 ปี ที่ได้บันทึกไว้ถึงความร่วมมือในการวิจัยและการเผยแพร่ความรู้ทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ของหลากหลายประเทศ …. สะท้อนให้เห็นระบบ กระบวนการ และผลลัพธ์การทำงานของสยามสมาคมฯ อีกทั้งอุปสรรคและความท้าทาย บุคคลและองค์กรที่มีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จ และขอบเขตของการทำงาน ภายใต้ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ของโลก สิ่งนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงการดำเนินงานและความร่วมมือทางการค้นคว้าของหลากหลายประเทศที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุคนของกลุ่มคนที่ได้รับเลือกให้ดำเนินงานของสยามสมาคมฯ ในศตวรรษที่ยาวนานและเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมาย

 อาคารสถานที่และกิจกรรมในปัจจุบัน

ในฐานะของการเป็นสมาคมระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สมาคมฯจึงจัดให้มีกิจกรรมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกสัปดาห์นอกเหนือไปจากการศึกษาสัญจรนอกสถานที่ ในปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ สมาคมพร้อมต้อนรับทุกคน รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ในการเข้าเยี่ยมชมสถานที่และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม

ตลอดเวลาอันยาวนานนับแต่ครั้งก่อตั้ง สยามสมาคมฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมภายใต้คติพจน์ที่ว่า “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” ความต่อเนื่องของกิจการที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจึงทำให้สมาคม ได้รับรางวัล “องค์กรทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม” 3 รางวัล (ระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ) เมื่อ พ.ศ. 2555 จากกระทรวงวัฒนธรรม

รายละเอียดด้านล่างนี้เป็นรายละเอียดโดยรวมเกี่ยวกับอาคารสถานที่และกิจกรรมของสยามสมาคมฯ ในปัจจุบัน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้นและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อติดต่อสอบถามข้อมูล รวมทั้งรายละเอียดเรื่องอื่นของสยามสมาคมฯได้จากหน้าอื่นๆ ภายในเว็บไซต์นี้

 ห้องสมุด

ห้องสมุดสยามสมาคมฯ เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือด้านศิลปกรรม มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น ยังเป็นที่รู้จักในฐานะที่เก็บรักษาหนังสือหายากของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย และ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งสยามสมาคมฯ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแล รวมถึงคัมภีร์ใบลานโบราณอีกจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ. 2557 ห้องสมุดสยามสมาคมฯ ได้รับการยกย่องจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ให้เป็น “ห้องสมุดเฉพาะดีเด่น”

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงเป็นตัวอย่างของเรือนไทยล้านนาแบบดั้งเดิมที่งดงามยิ่ง ภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและคตินิยมดั้งเดิมของชาวล้านนา เรือนไม้สักหลังนี้เดิมสร้างขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 และตกทอดเป็นมรดกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนทางญาติฝ่ายแม่ตามธรรมเนียมล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2506 นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ได้มอบเรือนล้านนาหลังนี้ให้แก่สมาคมสยามฯ โดยตั้งชื่อเรือนว่า “เรือนคำเที่ยง” ตามชื่อแม่ของเธอ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง

เรือนแสงอรุณ

เรือนแสงอรุณสร้างขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรือนไทยไม้สักแบบดั้งเดิมและเป็นตัวอย่างที่งดงามของสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลดา รัตกสิกร ได้มอบเรือนไทยหลังนี้ให้แก่สยามสมาคมฯ เมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อรำลึกถึงสามีของเธอ รองศาสตราจารย์ แสงอรุณ รัตกสิกร สถาปนิกชื่อดังและอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์นายกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเรือนแสงอรุณ

หอประชุม 

ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) เมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นอาคารเพดานสูง มีประตูกระจกสูง 3 เมตรที่ด้านข้างของอาคารแต่ละด้าน เปิดออกสู่สวนอันร่มรื่น และมีเวทีซึ่งตั้งอยู่ปลายสุดของอาคาร เป็นสถานที่ใช้จัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานสัมมนา และงานเลี้ยงส่วนตัวเป็นประจำ

เมื่อ พ.ศ. 2545 สมาคมสถาปนิกสยามได้มอบรางวัลยกย่องสยามสมาคมฯ ที่ได้อนุรักษ์อาคารต่าง ๆ ภายในบริเวณพื้นที่ของสมาคมซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นอย่างดี

ศิลปวัตถุของสยามสมาคมฯ

สยามสมาคมฯ ได้รวบรวมและเก็บรักษาศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าที่ได้รับมอบจากสมาชิกและบุคคลอื่น ๆ เช่น ประติมากรรมจิตรกรรมทางศาสนา เครื่องเคลือบดินเผา แผนที่โบราณ สิ่งทอ งานแกะสลักไม้ หัวโขนและหุ่นกระบอก ศิลปวัตถุเหล่านี้หลายชิ้นจัดแสดงอยู่ในบริเวณพื้นที่ของสยามสมาคมฯ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2559 ทางสมาคมได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “Sombat Sayam: The Siam Society Collection” เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญที่เก็บรักษาอยู่ที่สมาคม เพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ

วารสารและหนังสือ

Journal of The Siam Society (JSS) เป็นวารสารที่สยามสมาคมฯ จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีเนื้อหาเป็นบทความทางวิชาการภาษาอังกฤษ กำหนดออกปีละ 2 ฉบับ ครอบคลุมประเด็นในหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ โบราณคดี จารึกศึกษา ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วรรณคดี ศิลปะและสถาปัตยกรรม และศิลปะการแสดง

The Natural History Bulletin of the Siam Society (NHBSS) เป็นวารสารที่รวมบทความทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับพืชพรรณและสัตว์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีกำหนดออกปีละ 2 ฉบับ

นอกจากนั้น สยามสมาคมฯ ยังจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ โดยรูปแบบหนังสือมีทั้งการรวมบทความ หนังสืออ้างอิงใหม่ งานแปลเอกสารโบราณชั้นต้น และอื่น ๆ

การบรรยาย

การบรรยายเป็นกิจกรรมที่สยามสมาคมฯ จัดขึ้นเป็นประจำในเกือบทุกสัปดาห์ โดยบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่น่าสนใจจากแวดวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักวิชาการชาวต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ และผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษจนแตกฉาน การบรรยายครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น การค้นพบทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย สิ่งทอโบราณ และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมทั้งช่วงถาม-ตอบในตอนท้ายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้ร่วมซักถามพูดคุยเพิ่มเติม

ศึกษาสัญจร

การศึกษาสัญจร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นกิจกรรมหลักของสยามสมาคมฯ นำโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ไปจนถึงพฤกษศาสตร์ มีทั้งการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีที่เพิ่งค้นพบ หรือเทศกาลท้องถิ่น ไปจนถึง วัดที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก หรือเส้นทางแสวงบุญตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น เส้นทางนักบุญยากอบ (Camino de Santiago) ในประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปน และเส้นทางแสวงบุญชิโกกุ (Shikoku Temple Pilgrimage) ในประเทศญี่ปุ่น

การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

โครงการพิทักษ์มรดกสยาม (Siamese Heritage Trust) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 เพื่อกระตุ้นความสนใจของสังคมในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย และใน พ.ศ. 2563 ได้มีมติในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรมรดกทางวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Cultural Heritage Alliance - SEACHA) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่มีประสิทธิผลระหว่างภาครัฐและชุมชนในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

การประชุม นิทรรศการ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ

ที่ผ่านมา สยามสมาคมฯ ได้จัดการประชุมระดับนานาชาติในหัวข้อต่างๆ หลายครั้ง ได้แก่ “Sukhothai Inscription One” เมื่อ พ.ศ. 2532 “Culture and Environment in Thailand” เมื่อ พ.ศ. 2540 “King Chulalongkorn’s Visit to Europe a Century Earlier” เมื่อ พ.ศ. 2540 และ “Heritage Protection: The Asian Experience” เมื่อ พ.ศ. 2562 นอกจากนั้นทางสมาคมยังได้จัดนิทรรศการอื่นๆอีกหลายครั้ง เช่น การจัดแสดงหนังสือเก่าและเอกสารโบราณ สิ่งทอโบราณ และแผนที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เช่น การแปลคัมภีร์โบราณและการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ

ศิลปะการแสดง

สยามสมาคมฯ จัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมเป็นประจำภายในอาคารหอประชุม และบางครั้งจัดแสดงกลางแจ้งในสนามหญ้าด้านนอก นอกจากดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกของตะวันตกแล้ว สยามสมาคมฯ ยังเคยจัดการแสดงอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น การตีกลองไทโกะ (Taiko drumming) จากประเทศญี่ปุ่น ระบำกถัก (Kathak dance) จากประเทศอินเดีย และระบำฟลาเมงโก (Flamenco dance) จากประเทศสเปน รวมถึงนาฏศิลป์จากประเทศอื่นๆอีกมากมาย