พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
และเรือนแสงอรุณ
พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
“พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงเปิดให้เข้าชมทุกวันอังคารถึงวันเสาร์ ระหว่างเวลา 9:30 น. - 16:30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้การซ่อมบำรุงและอนุรักษ์เรือนเป็นโครงการต่อเนื่องโดยเฉพาะการซ่อมแซมหลังคาที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ผู้สนใจสามารถบริจาคสมทบทุนพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงที่บริเวณด้านหน้า หรือโอนเงินบริจาคผ่านแอพลิเคชั่นธนาคารโดยใช้รหัส QR code ด้านล่าง”
พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงเป็นตัวอย่างเรือนไทยภาคเหนือแบบดั้งเดิมอันงดงาม ภายในจัดแสดงนิทรรศการชาติพันธุ์วิทยาที่แสดงถึงความเชื่อและคตินิยมดั้งเดิมของชาวล้านนา
เรือนไม้สักหลังนี้สร้างขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงกลางคริศต์ศตวรรษที่ 19 บนริมฝั่งทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง โดย แม่แซ๊ด เหลนของเจ้าเมืองแจ้ และได้ตกทอดมาหลายชั่วอายุคนตามสายตระกูลข้างแม่ตามธรรมเนียมล้านนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ผู้เป็นทายาท ได้มอบเรือนไม้สักหลังนี้ให้กับสยามสมาคมฯ โดยตั้งชื่อว่า “เรือนคำเที่ยง” ตามชื่อมารดาของตน
การรื้อเรือนขนย้ายและนำมาประกอบขึ้นใหม่ บน พื้นที่ของสยามสมาคมฯใช้เวลาทั้งสิ้นสองปี ตัวเรือนแบ่งเป็นสองส่วนเชื่อมต่อกันด้วยพื้นไม้ มีเติ๋นเรือน และทางเดินเชื่อมไปยังครัวไฟ เรือนยกพื้นสูงตั้งอยู่บนเสาไม้ หกเหลี่ยมจำนวน สามสิบหกต้น ผนังเรือนภายออกรับกับชายคา บนยอดสุดของจั่วเรือนประดับกาแล
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาฯเสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ภายในเรือนมีนิทรรศการเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนาโดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบของวิถีชีวิต พิธีกรรม ศิลปะและสถาปัตยกรรม ทั้งหมด ได้รับการนำเสนอในโลกทัศน์อย่างล้านนาผ่านวัตถุ ภาพถ่าย ภาพประกอบกราฟิก และเสียง
ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมานั้น เรือนหลังนี้ได้ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาจัดแสดงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมและยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมกับนักเรียนนักศึกษา และผู้ที่มาเยี่ยมชมจากทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
การบริจาคสมทบทุนอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาที่สำคัญสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจจากทั่วทุกมุมโลก ในปัจจุบันเรือนหลังนี้มีอายุ 175 ปีแล้ว สภาพของเรือนจึงชำรุดและทรุดโทรมลงตามกาลเวลา
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ กิจกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก แผนการบูรณะของเราครอบคลุมงานในส่วนโครงสร้างอาคารหลัก ครัวไฟ และยุ้งข้าว รวมถึงการเปลี่ยนหลังคา หน้าแหนบ กาแล หน้าจั่ว และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เช่น รางน้ำ แผ่นไม้ เฉลียง ระเบียง เสา พื้น และบันได
ทางสมาคมฯขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจมีส่วนร่วมในการรักษา มรดกล้านนาที่สำคัญชิ้นนี้ โดยการบริจาคทรัพย์ร่วมสมทบทุนในการอนุรักษ์ การสนับสนุนของท่านจะช่วยให้พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงยังสามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาต่อไปได้ในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้า
ท่านสามารถโอนเงินบริจาคให้กับสมาคมฯผ่านทาง QR code ด้านล่างนี้ ทั้งนี้ ขอความกรุณานำส่งสำเนาสลิปการโอนเงินมาให้เราเพื่อดำเนินการออกใบเสร็จรับเงินบริจาคต่อไป
การบริจาคสมทบทุนอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง
สำรวจภาพเสมือนจริงของบริเวณพื้นที่สยามสมาคมฯและพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยงฯ
เรือนแสงอรุณ
เรือนแสงอรุณสร้างขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรือนไทยไม้สักแบบดั้งเดิมและเป็นตัวอย่างที่งดงามของสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลดา รัตกสิกร ได้มอบเรือนไทยหลังนี้ให้แก่สยามสมาคมฯ เมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อรำลึกถึงสามีของเธอ รองศาสตราจารย์ แสงอรุณ รัตกสิกร สถาปนิกชื่อดังและอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์นายกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเรือนแสงอรุณ