พิทักษ์มรดกสยาม
เพื่อการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน
พิทักษ์มรดกสยาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 โดยคณะกรรมการของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร องค์บรมราชูปถัมภก ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งมักประสบปัญหาการขาดความเอาใจใส่ การขาดแคลนทุนทรัพย์ การถูกรุกล้ำพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ จุดมุ่งหมายหลักของพิทักษ์มรดกสยาม คือการยกระดับการรับรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible cultural heritage) และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible cultural heritage) เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ของสาธารณชนทั่วไป รวมถึงการแสวงหาแนวทางการปรับปรุงการบริหารจัดการ ทั้งนี้ขอบเขตความสนใจของพิทักษ์มรดกสยาม ครอบคลุมมรดกวัฒนธรรมทั่วประเทศไทย โดยมุ่งเน้นในเรื่องของมรดกวัฒนธรรมชุมชน และภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural landscape)
พิทักษ์มรดกสยาม ทำงานผ่านเสาหลัก 4 เสา ได้แก่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การส่งเสริมการศึกษา การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และการสร้างเครือข่าย กิจกรรมภายใต้การทำงานสี่ด้านนี้ ได้แก่ การจัดการประชุม การบรรยาย ทัศนศึกษา อบรม สัมมนา การจัดพิมพ์หนังสือ และบทความในสื่อต่างๆ ทั้งนี้ พิทักษ์มรดกสยาม เชื่อมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของประเทศไทยต่อไป
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณจารุณี คงสวัสดิ์
โทรศัพท์: +66 2 661 6470 ถึง 3 ต่อ 204
โทรสาร +66 2 258 3491
อีเมล jarunee@thesiamsociety.org
ความรู้
สยามสมาคมฯองค์กรอิสระที่เป็นแหล่งความรู้ในการจัดการและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เราสรุปประเด็นที่น่าสนใจและจัดพิมพ์คู่มือรวมถึงสิ่งพิมพ์ต่างๆเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเผื่อเผยแพร่ให้กับสาธารณชนที่สนใจ
การศึกษา
เราจัดให้มีการเสวนาและเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านมรดกทางวัฒนธรรมในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและเปิดโอกาสให้สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเรื่องมรดกวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นสยามสมาคมฯจัดให้มีการเดินทางสัญจรเพื่อศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศอยู่เป็นประจำ
การเสริมสร้างเครือข่าย
เราทำงานร่วมกับองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกัน พร้อมทั้งร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมรวมถึงการรณรงค์ขับเคลื่อนอย่างสม่ำเสมอ
การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
เรามุ่งมั่นสังเกตการณ์การดำเนินงานของภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นกระบอกเสียงชี้แจงในกรณีของภัยคุกคามต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศให้กับสาธารณชน อีกทั้งยังร่วมร้องเรียนและขับเคลื่อนในวาระที่จำเป็นอย่างเหมาะสม