เลือกหน้า

Back to news

4 February 2023

สะพานนิเวศ ทางออกของผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน?

ภายหลังการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าภาคประชาชนยังขาดความเข้าใจในหลักการและวิธีการคำนวณภาษี ตลอดจนตัวบทกฎหมายเองก็ยังมีช่องโหว่ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดไปจากเป้าประสงค์แรกเริ่มของผู้จัดทำ 

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่หรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่อาจต้องการการดูแลที่เฉพาะเจาะจง โดยในส่วนที่เป็นความสนใจของสยามสมาคมฯ ได้แก่ พื้นที่ทรงคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในครอบครองของเอกชนและอาจไม่ได้รับความสนใจจากสังคมหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อาจเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เข้าข่ายเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้งานอันก่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพดังที่กฎหมายระบุ โดยตั้งแต่การรับร่างพ.ร.บ.เมื่อหลายปีก่อน  ได้ปรากฏข่าวการถางทำลายพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศหลายแห่งโดยพลการอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเจ้าของเกิดความกลัวหรือขาดความเข้าใจกระบวนการการตีความตัวบทกฎหมาย 

หลังจากกิจกรรมเสวนาเรื่องพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562: รกร้าง ว่างเปล่า “ไร้ประโยชน์” จริงหรือ? เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งสยามสมาคมฯ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางธรรมชาติวิทยา สถาปัตยกรรม และโบราณคดี ได้มีโอกาสกระตุ้นให้สังคมมองเห็นผลกระทบของพ.ร.บ.ที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เราได้กลับมานั่งพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านอีกครั้ง เพื่อหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจออกมาขยายความ และพูดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในการหาทางออก ทั้งการเริ่มต้นด้วยตัวเองและการพึ่งความเข้าใจของภาครัฐ เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงข้อกฏหมายให้รองรับแนวคิดการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้ถือประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง 

อาจารย์จุลพร นันทพานิช ผู้ก่อตั้งบริษัทป่าเหนือสตูดิโอจำกัด สถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ผู้พัฒนาพื้นที่สีเขียวและสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นมาแล้วหลายโครงการ ตอกย้ำการเปลี่ยนแนวคิด ยอมรับความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของที่ดินในมิติอื่นๆ นอกจากมิติทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อทรัพยากรทั้งหมดในทางอ้อม

ในส่วนของการแก้ปัญหากฏหมายอาจารย์จุลพรเสนอแนวทางสองระดับ ได้แก่

1) ระดับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ผู้ถือครองที่ดินสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการที่ตัวบทกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหลักการระบุ “ประโยชน์ตามสภาพ” ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หมายความว่าประชาชนผู้ถือครองที่ดินสามารถต่อรองกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบประเมินภาษีในระดับท้องถิ่นได้โดยตรง ด้วยการเตรียมข้อมูลมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดการยืนยันเฉพาะราย โดยเห็นตัวอย่างได้จากบางกรณีที่ทางการยอมรับแนวทางของเจ้าของพื้นที่สีเขียว ที่อาศัยการปลูกพืชเกษตรประเภทไม้ล้มลุกที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ตามจำนวนต่อไร่ที่กำหนดไว้ตามกฏหมาย โดยไม่ได้ตัดทำลายไม้ยืนต้นเดิมแต่อย่างใด

อาจารย์จุลพรกล่าวว่า จากประสบการณ์ให้คำปรึกษาที่ผ่านมา ตนพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในหลายท้องที่ค่อนข้างเปิดรับ เพราะทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ถือครองที่ดินต่างก็อาศัยตัวบทกฎหมายที่ยังขาดความชัดเจนในบางส่วนเหมือนกัน หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องอาศัยการตีความหน้างาน เพราะขาดแนวทางที่ทำให้สามารถรักษาความสม่ำเสมอในการประเมินคุณค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากประชาชนมาพบเจ้าหน้าที่พร้อมข้อมูลที่ครอบถ้วน เจ้าหน้าที่ก็พร้อมรับฟัง

โดยตัวอย่างที่พบว่าสามารถต่อรองได้อย่างลงตัว คือพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำบริเวณเกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีลักษณะเป็นสวนยางนา ถือเป็นระบบนิเวศอย่างดีในเขตชุมชนใหญ่ เจ้าของใช้วิธีปลูกกระชายและขมิ้นบริเวณหน้าดินโคนต้นยาง ทำให้สามารถคงสภาพความเป็นสวนป่าไว้ได้

2) ระดับการแก้ปัญหาระยะยาว

นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว อ.จุลพรยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโดยรวม ในทางกฎหมาย หมายถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของมนุษย์และวิถีชีวิตของสรรพสิ่งอื่นๆ ในธรรมชาติ ไม่ทำลายต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม คงสภาพนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคงสภาพพื้นที่ทรงคุณค่าทางธรรมชาติในเขตเมือง อ.จุลพร กล่าวว่าพื้นที่ว่างในครอบครองของเอกชนในกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยประมาณคิดเป็นจำนวนกว่า 60,000 ไร่ (หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ สนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่คิดเป็น 20,000 ไร่) พื้นที่จำนวนมากขนาดนี้สามารถนำมาพัฒนาให้ทำหน้าที่เป็น “สะพานนิเวศ” (ecology corridor) ของกทม. เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งถูกทำลายไปจากการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างฉับพลัน

“สะพานนิเวศ” หรือ “ecology corridor” หมายถึงจุดเชื่อมต่อทางธรรมชาติ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อคงสภาพและพัฒนาระบบนิเวศดั้งเดิม รักษาสมดุลในการปะทะสังสรรค์กันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการธำรงความสมบูรณ์ของธรรมชาติในระดับภูมิภาค โดยในชั้นต้น การกำหนด ecology corridor ในเขตที่ระบบนิเวศถูกทำลายไปแล้ว หมายถึงการฟื้นฟูเส้นทางอพยพหรือแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมสำหรับสัตว์บางชนิด และเปิดทางให้พรรณไม้ท้องถิ่นได้กลับมาเจริญเติบโตด้วยตัวเองหรือผ่านการปลูกใหม่ของผู้คน 

การสร้าง ecology corridor ที่เหมาะสมสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงอาศัยความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์ท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการปลูกพรรณไม้ท้องถิ่น ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือก นอกจากจะได้คุ้มครองพันธุกรรมของพรรณพืชเหล่านี้จากการคุกคามของพืชต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพราะได้รับความนิยมตามกระแสสังคม ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพืชท้องถิ่นหลายชนิดเติบโตในพื้นที่ได้อยู่แล้วด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการลงทุนดูแลรักษาที่พิเศษเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้พืชท้องถิ่นประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก กระบก กระทิง ฯลฯ ยังช่วยสร้างร่มเงาและสามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อีกด้วย

เมืองที่เจริญต้องมีระบบนิเวศที่ดี ต้องเปลี่ยนทัศนะของมนุษย์ที่มองประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเป็นศูนย์กลาง ที่รกร้างอาจหมายถึงแหล่งนิเวศวัฒนธรรมที่สมบูรณ์