กิจกรรม “ความสำคัญของการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม”
ในวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และสถาบันอยุธยาศึกษา ได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ความสำคัญของการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม” ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และได้จัดการศึกษาสัญจรที่โครงการอนุรักษ์โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในช่วงท้ายรายการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ในมิติความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมในยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รวมถึงงานอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัญ เราได้เปิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิค ความท้าทาย และแนวคิดที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่โบราณสถานอันสำคัญแห่งนี้
ในงานเสวนาครั้งนี้ สยามสมาคมฯ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะอยุธยามาร่วมแบ่งปันความรู้ โดยการเสวนาในช่วงเช้าเริ่มจากการบรรยายพิเศษโดย ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร ในหัวข้อ “การเมืองและการค้า: ความสำคัญของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ที่นำเสนอภาพของการเมืองการปกครอง และการค้าขายกับต่างชาติ ผ่านการศึกษาและตีความเอกสารชั้นต้น เช่นเอกสารชุดจดหมายเหตุบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา
อิทธิพลของความสัมพันธ์กับต่างชาติ ยังสะท้อนให้เห็นในลวดลายและงานปราณีตศิลป์ที่ปรากฏในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้ถูกอภิปรายในช่วงการเสวนาถัดมาโดย คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ดร. สุรินทร์ ศรีสังข์งาม และ คุณณัฐพล ทองนาค ภายใต้หัวข้อ “ลายไทยสมัยราชวงศ์ปราสาททอง” คุณพิมพ์ประไพ และ คุณณัฐพล ยังได้นำศิลปวัตถุมาจัดแสดงเพื่อประกอบการเสวนาในครั้งนี้ให้ผู้เข้าร่วมได้รับชมอีกด้วย
ในการเสวนา “ความสำคัญของการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม” ในช่วงบ่าย วิทยากรจากกรมศิลปากร ได้แก่ คุณสุกัญญา เบาเนิด คุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ และวิทยากรจากกองทุนโบราณสถานโลก นำโดย คุณเจฟฟ์ อัลเลน คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล และ คุณนฤดล ดีฉาย ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ครอบคลุมตั้งแต่ความท้าทายในการทำแผนบรรเทาภัยพิบัติและตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่วัดไชยวัฒนาราม การผสมผสามมิติของการอนุรักษ์กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนแนวคิดการทำงานอนุรักษ์ที่ไม่ใช่การบูรณปฎิสังขรณ์ในแบบที่คุ้นเคย ดังปรากฏในเทคนิคที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่งความแท้และความยั่งยืนของตัวอาคาร นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาฝีมือของช่างผ่านการทำงานอนุรักษ์ และการทำให้พื้นที่งานเป็นดั่งห้องเรียนบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
เพื่อให้ได้เห็นประเด็นเหล่านี้ในพื้นที่ปฎิบัติงานจริง หลังจากการเสวนาช่วงบ่าย ได้มีการจัดการนำชมพิเศษโดยผู้แทนจากกองทุนโบราณสถานโลกที่โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม โดยผู้เข้าร่วมได้เวียนกันเข้าไปดูงานศิลปกรรมและโครงสร้างเทคนิคการทำงานในเมรุอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจถึงความท้าทายต่างๆในการจัดการโบราณสถาน อาทิ การทำงานของประตูกั้นน้ำที่ตั้งรับระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และความสำคัญของการเลือกใช้วัสดุที่เข้าได้กับวัสดุดั้งเดิมของอาคาร