Trip will be conducted in Thai, but non-Thai speaking participants are welcome.
On this cultural and nature trip, members will visit small villages located among limestone hills in Noen Maprang, Phitsanulok province, and continue on to visit several heritage sites in the old town of Muang Tak. Apart from visiting renowned temples, members will explore “Trok Baan Chin” an old Chinese community, visit some extraordinary houses and see local people’s way of life. Continuing on to Mae Sod district, members will visit an awarded community forest which has been revived and preserved by villagers’ tradition and knowledge together with local authority. Before leaving Tak, members will visit Wat Phra That Doi Hin Kiu, the temple that is respected by both Thailand and Myanmar side. From the temple, members will enjoy a great view of Mae Sod district.
การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม บางครั้งมีความเชื่อมโยงต่อกันอย่างแนบแน่น ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เส้นทางศึกษาสัญจรที่ “พิทักษ์มรดกสยาม” ขอนำเสนอครั้งนี้ เป็นเส้นทางเชื่อมร้อยเรื่องราวที่หลากหลายไว้ด้วยกันทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ธรรมชาติ การอนุรักษ์มรดก วัฒนธรรมเมืองเก่า มรดกภูมิปัญญาของชาวบ้านในการรักษาป่าต้นน้ำ และพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอเพียงและยั่งยืน
“อำเภอเนินมะปราง” เดิมชื่อบ้านเนินมะปราง ลักษณะภูมิประเทศประมาณร้อยละ 45 เป็นภูเขาหินปูนอายุกว่า 300 ล้านปี มีถ้ำที่ปรากฎร่องรอยพืชและสัตว์ทะเลให้เห็นชัดเจน ทำให้รู้ว่าในยุคหนึ่งนานมาแล้ว บริเวณนี้เคยเป็นทะเล ความที่เนินมะปรางมีเขาหินสลับซับซ้อน จึงมีประวัติศาสตร์ศาสตร์เล่าขานว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่หลบซ่อนของผู้ลี้ภัยการเมือง คณะสมาชิกจะเดินสำรวจธรรมชาติที่ “บ้านมุง” และ“บ้านรักไทย” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆในอำเภอเนินมะปราง ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติที่สงบงามและยังสมบูรณ์ มีวิวทิวเขาสลับกับสวนและไร่นาของชาวบ้าน
“เมืองตาก หรือ เมืองระแหง”เมืองนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันตก เป็นสถานที่ที่ทำยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของไทยสมัยสุโขทัย กับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด(เมืองที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดตากในปัจจุบัน) ต่อมาในสมัยอยุธยาเมืองตากถือเป็นเมืองที่ทางกรุงศรีอยุธยาจะส่งข้าราชการมาปกครองเพราะเป็นเมืองภายใต้การปกครองของอยุธยาด้านทิศเหนือที่อยู่ติดกับราชอาณาจักรล้านนา (ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่) เมืองตากหรือเมืองระแหงเดิมนี้ มีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่เคยรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ปลัดเมืองตากและพระยาตาก ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก หรือ เจ้าเมืองระแหงในช่วงปลายสมัยอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 ขณะรับราชการเป็นพระยาตากที่เมืองระแหง ได้เคยอฐิษฐานกับระฆังแก้วเสี่ยงทาย ณ “วัดดอยข่อยเขาแก้ว” และทรงคุ้นเคยกับพระสงฆ์ที่วัดแห่งนี้้ โดยมีหลักฐานว่าเมื่อคราวเสด็จนำทัพมาปราบชุมนุมในภาคเหนือ ทรงเสด็จมาที่วัดแห่งนี้และมีรับสั่งกับพระสงฆ์ว่า จำพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากได้หรือไม่ ปัจจุบันวัดแห่งนี้ไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาแล้วโดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย ประชาชนและชุมชนโดยรอบวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัดแห่งนี้ด้วย นอกจากนี้ในบริเวณดังกล่าวยังพบหลักฐานทางโบราณคดีว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ “วัดมณีบรรพตวรวิหาร” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเขาแก้ว” ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดตาก พื้นที่ตั้งวัดมีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ่สมัยอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสนทอง “หลวงพ่อแสนทอง” หรือ “หลวงพ่อแสนหลวง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรรูปเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองตาก ที่วัดนี้ จะได้ชมหอพระไตรปิฎกกลางสระน้ำ สร้างด้วยลวดลายและเค้าโครงต่างๆ เช่น ลายอาทิตย์ชักรถบนหน้าบัน ซึ่งแตกต่างไปจากลายล้านนา-พม่าที่นิยมในแถบภาคเหนือ ผนังของห้องด้านในเขียนภาพจิตรกรรมด้วยสีฝุ่นเป็นภาพพระพุทธประวัติ ซึ่งปัจจุบัน วัดประชาชนและชุมชนได้ร่วมกับกรมศิลปากรบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่แล้ว
นอกจากชมโบราณสถานแล้ว สมาชิกจะได้เดินชมบ้านเมืองชมสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนเมืองตาก เช่น ชุมชนตรอกบ้านจีนซึ่งเป็นชุมชนการค้าเก่าที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและมีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในละแวกชุมชนแห่งนี้ยังมี วัดที่สำคัญๆศาลเจ้า และอาคารประวัติศาสตร์ให้ชมอีกหลายหลังโดยเฉพาะจวนผู้ว่าเก่าซึ่งเป็นเรือนไม่สักทั้งหลังอายุประมาณ 138 ปี เป็นบ้านพักเดิมของคุณพระเชียงทอง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตากซึ่งได้ยกจวนหลังนี้ให้แก่ทางราชการในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกนำมาใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการเมืองตากคนแรกคือ พระยาสุจริตรักษา (อ่วม) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 จนถึงปี พ.ศ. 2540เคยเป็นที่ประทับแรมในการเสด็จเยือนเมืองตากของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชาชินีนารถในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2503 ปัจจุบันกองการศึกษาเทศบาลเมืองตากได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นจังหวัดตาก
ที่แม่สอด ท่านจะได้เข้าชมป่าชุมชนแม่กึ๊ดหลวง ตำบลแม่กาษา มีเนื้อที่กว่า 5,200 ไร่ซึ่งชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและความรู้ทางด้านธรรมชาติ พลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ คอยดูแลรักษาและพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีวิตอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและยั่งยืนจนได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2557 ก่อนเดินทางกลับแวะไปสักการะพระธาตุดอยหินกิ่ว สถานที่อันเป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งในฝั่งไทยและพม่า องค์พระธาตุตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูงโดยมีหินก้อนใหญ่บนหน้าผา ซึ่งชาวบ้านต่างพากันขนานนามว่า“เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” บริเวณวัดพระธาตุฯ ยังมีเรือโบราณที่มีอายุประมาณ 200 ปี โดยชาวบ้านวังตะเคียนได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาเก็บรักษาไว้ เมื่อมองลงมาจากองค์พระธาตุจะเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของอำเภอแม่สอด
When
Leader
ดร.วีระชัย ณ นคร
อุปนายกและหัวหน้าแผนกกิตติมศักดิ์ของวิชาธรรมชาติวิทยา
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
ดร.พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์
ที่ปรึกษาด้านกฎหมายมรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม แผนกพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
ร่วมกับ กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะและวัฒนธรรมเมืองเก่า (จังหวัดตาก)
Booking
Or contact Khun Supanut at
supanut@siam-society.org
ศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน | |
05:00 น. | พร้อมกันที่สนามบินดอนเมือง |
06:30 น. | เดินทางออกจากสนามบินดอนเมือง ไปยังพิษณุโลก ด้วยสายการบินนกแอร์ DD8400 |
07:20 น. | ถึงสนามบินพิษณุโลก |
08:00 น. | แวะรับประทานอาหารเช้า |
09:00 น. | ออกเดินทางไปยังบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง |
10:30 – 12:00 น. | เดินชมทัศนียภาพเขาหินปูนที่บ้านมุง |
12:00 – 13:00 น. | รับประทานอาหารกลางวันที่บ้านมุง |
13:30 – 14:30 น. | ชมถ้ำหินปูน ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาพล อำเภอเนินมะปราง |
15:30 – 16:30 น. | ชมหมู่บ้านรักไทย เกษตรกรพึ่งตนเอง |
18:30 น. | รับประทานอาหารเย็นที่บ้านคุณพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ นายกสยามสมาคมฯ |
20:30 น. | เดินไปยังที่พักที่โรงแรม Yodia Heritage Hotel |
วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน | |
07:00 น. | รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม |
08:00 น. | เดินทางออกจากพิษณุโลก (เมืองสองแคว) ไปยังเมืองตาก (บ้านระแหง) |
10:30 น. | ถึงเมืองตากฝั่งตะวันออก (บ้านระแหง) ชมหอไตรกลางน้ำ วัดเขาแก้ว (วัดมณีบรรพตวรวิหาร)เข้าสักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน (บนเขาสิทธิ์) แล้วเดินทางข้ามแม่น้ำปิง ไปยังชุมชนบ้านป่ามะม่วง (ตากตก)ชมการอนุรักษ์วัดโบราณโดยชุมชน ที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว (วัดที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน) |
12:00 น. | รับประทานอาหารกลางวันในอำเภอเมืองตาก |
13:30 น. | ชมมรดกวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นในอำเภอเมืองตาก อาทิ ชุมชนตรอกบ้านจีน บ้านขุนวัชรพุกก์ศึกษากร บ้านนายทองอยู่ ศาลเจ้าปึงเถ่ากงศาลเจ้า แห่งแรกในเมืองระแหง ชมวัดสีตลาราม(วัดน้ำหัก) มีสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรป พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ (จวนผู้ว่าเก่า)ตลาดสดโบราณชุมชน บ้านเชียงทอง |
15:00 น. | เดินทางออกจากอำเภอเมืองตาก ไปยังอำเภอแม่สอด แวะชมตลาดดอยมูเซอ (สินค้าของชาวไทยภูเขา) สักการะอนุสาวรีย์พะวอ ที่ศาลเจ้าพระวอ และศาลเจ้าขุนสามชน (เจ้าเมืองฉอด) ก่อนเข้าอำเภอแม่สอด |
18:00 น. | เข้าพักที่โรงแรม Centara Mae Sot Hill Resort |
19:00 น. | รับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารขึ้นชื่อในอำเภอแม่สอด |
วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน | |
07:00 น. | รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม |
08:00 น. | เช็คเอาท์จากโรงแรม |
08:30 น. | เข้าป่าชุมชนแม่กึ๊ดหลวง ตำบลแม่กาษา เดินชมป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟู และอนุรักษ์ไว้ด้วยภูมิปัญญาและกติกาของชุมชนร่วมกับทางราชการ |
12:00 น.- 13:00 น. | รับประทานอาหารกลางวัน |
14:00 – 15:30 น. | ชมพระธาตุดอยหินกิ่ว ตำบลท่าสายลวด โดยเส้นทางแม่สอด-แม่ระมาด (เดินขึ้นบันได 400 ขั้น) |
16:00 น. | พร้อมกันที่สนามบินแม่สอด |
17:55 น. | เดินทางออกจากอำเภอแม่สอดกลับสู่กรุงเทพฯ ด้วยสายการบินนกแอร์ DD 8127 |
19:20 น. | ถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ |
สยามสมาคมฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงรายการตามความเหมาะสม
ค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิกสยามสมาคมฯ 16,000 บาท และสำหรับบุคคลทั่วไป 16,500 บาท รวมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าที่พัก 2 คืน ค่าอาหารตามกำหนดการ ของว่างและเครื่องดื่ม ค่าบำรุงโบราณสถาน ค่าสนับสนุนชุมชนที่จะเข้าชม และค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสัญจรครั้งนี้
(หมายเหตุ: ไม่รวมอาหารเย็นวันเดินทางกลับจากแม่สอด) หากต้องการพักห้องเดี่ยว มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 2,050 บาท
ติดต่อสำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณจารุณีและคุณศุภณัฐ
โทร. 02 – 6616470-3 ต่อ 204 หรือ 506
อีเมล jarunee@siam-society.org
กรุณายืนยันการสำรองที่นั่งโดยชำระเงินสดที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปภัมถ์ หรือโอนเงินผ่านธนาคารทหารไทย สาขาอโศก ชื่อบัญชี สยามสมาคม หมายเลข 053-2-18000-7 (ในกรณีที่ชำระด้วยบัตรเครดิต จะบวกค่าธรรมเนียมเพิ่ม 4%) ภายในวันศุกร์ที่ 28 กันยายนนี้ โปรดส่งหลักฐานการชำระเงินทางอีเมลหรือโทรสาร 02-2583491 พร้อมระบุชื่อ-นามสกุล และหมายเลขติดต่อของท่าน
More upcoming activities
-
-
British Plans for the Upper Siamese-Malay Peninsula Over the Nineteenth CenturyการบรรยายThursday, 3 October 2024 at 19:00
-
Art, Diplomacy and the Projection of Power: The Thai Elephant Statues in Singapore, Jakarta and Ho Chi Minh CityการบรรยายThursday, 17 October 2024 at 19:00