1ข. สนธิสัญญา แฮริส ค.ศ. 1856
เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐอเมริกา
สถาบันสมิธโซเนียน – ห้องนิทรรศการ 1
การแลกเปลี่ยนบรรณาการครั้งต่อไป เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1856 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้ทำสนธิสัญญาโรเบิร์ตส์ในปี ค.ศ. 1833
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชอยู่นานถึง 27 ปี ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นนักวิชาการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษาสถานการณ์ของโลกและประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ทรงตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านวิเทโศบาย ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ จึงทำให้เกิดสนธิสัญญาหลายฉบับในต้นรัชสมัยของพระองค์ อาทิ สนธิสัญญาไทย-อเมริกันฉบับใหม่ ซึ่งรู้จักกันในนามของสนธิสัญญา แฮริส (Harris Treaty) ตามชื่อของทูตสหรัฐ เทาวเซ็นธ์ แฮริส ผู้มาเมืองไทย ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งกงศุลใหญ่และทูตประจำญี่ปุ่น
สหรัฐอเมริกา ถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทย เนื่องจากในเวลานั้น สหรัฐไม่มีนโยบายยึดครองประเทศในเอเซียตะวันออกฉียงใต้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังประสบความล่าช้าต่าง ๆ ในขั้นตอนของการเจรจา เนื่องจาก ทูตแฮรี่ ปาร์กส์ ของอังกฤษกำลังเข้ามาแลกเปลี่ยนสัตยาบันของสัญญาเบาว์ริ่ง (ค.ศ.1855) อยู่ในกรุงเทพเวลาเดียวกันพอดี แต่ แฮริส ก็ไม่ได้เสียเวลามากนักเพราะสามารถใช้สาระสำคัญของสัญญาเบาว์ริ่ง เป็น พื้นฐานในการเจรจา
คำกราบบังคมทูลของ แฮริส ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของสหรัฐต่อประเทศไทยได้แจ่มชัด
“สยามมีผลิตผลมากมายที่สหรัฐอเมริกาปลูกเองไม่ได้ ชาวอเมริกัน ยินดีแลกเปลี่ยนผลิตผล และทองกับเงิน กับผลิตผลของสยาม ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้า และมิตรภาพที่ดีต่อกัน”
ในวันต่อมา แฮริส ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วยว่า
“สหรัฐอเมริกา ไม่มีอาณานิคมในตะวันออก และไม่ต้องการจะมี เพราะรูปแบบการบริหารประเทศของสหรัฐไม่ส่งเสริมให้มีอาณานิคม ดังนั้น ประเทศตะวันออกไม่จำเป็นต้องระแวงกลัวสหรัฐ ความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างสันติ ซึ่งมีทั้งการให้และการรับผลประโยชน์ต่อกัน เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีของข้าพเจ้าหวังให้เกิดขึ้นแก่ประเทศสยาม และนี่คืองานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติ”
ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม ได้มีการนำเครื่องบรรณาการที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียซ ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นขบวนทางน้ำ จากท่าเรือไปยังพระบรมมหาราชวัง นายแพทย์ วูดส์ แพทย์ประจำเรือได้เล่าไว้อย่างละเอียดดังนี้
“… ราวเที่ยงวัน พวกเราได้ออกเดินทางจากที่พำนัก โดยเรือพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้มารับ เรือนำขบวนบรรทุกวงดนตรี แล้วตามด้วยเรือที่นำสาส์นจากประธานาธิบดี ประดิษฐานในบุษบกใต้หลังคากัญญา สาส์นดังกล่าวนี้ห่อหุ้มด้วยผ้ากำมะหยี่ลายนูน สีม่วง มีเชือกที่ทำจากไหมพันรอบประทับตราบนครั่ง ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องเงินสลักลายนูนตราประจำประเทศสหรัฐอเมริกา เชือกไหมที่พันห่อยังร้อยผ่านตราและกล่องเงินมาเป็นพู่ห้อย ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในกล่องทำเป็นรูปหนังสือห่อหุ้มด้วยสีม่วงและทอง และมีผ้าซาตินสีเหลืองคลุมอีกชั้น เรือทหารนาวิกโยธิน สองลำ ภายใต้การบังคับบัญชาของเรือโท ไทเลอร์ แล่นขนาบสองข้าง ต่อจากนั้น เป็นเรือบรรทุก เครื่องบรรณาการ อยู่ใต้หลังคากัญญาติดม่าน ตามด้วยเรือนำทูตเทาวเซ็นด์ แฮริส พร้อมด้วยสาธุคุณ แมททูน (Rev. Mattoon) ล่ามประจำตัว, มร.ฮิวสกิน เลขานุการส่วนตัว และมีนายท้ายเรือถือธงชาติอเมริกัน ส่วนผู้บังคับการเรือ พร้อมด้วยเลขานุการและตัวข้าพเจ้านั่งไปในเรืออีกลำ ต่อจากนั้น ก็เป็นเรือของพวกทหารเรือที่มาในคณะ ทั้งขบวนแล่นไปตามคุ้งน้ำยาวเหยียดอย่างน้อยครึ่งไมล์”
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
-
ของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ, ค.ศ.1876
-
นิทรรศการสยาม, งานฉลองครบ 100 ปี ประเทศสหรัฐอเมริกา
-
วัสดุ ปูนปั้นเคลือบทองแดงเขียนสี
-
สูง 80.14 ซม. ไหล่กว้าง 50.6 ซม.
-
USNM # 27439 (4003-A)
พระบรมรูปปูนปั้นครึ่งพระองค์เขียนระบายสี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีรูปแบบตะวันตกอย่างชัดเจน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรง ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ระบุปีคริสต์ศักราชแห่งการครองราชย์ของพระองค์ท่านบนแผ่นป้ายที่ฐานพระบรมรูป
ผู้ปั้นและระบายสีพระบรมรูปองค์นี้ เข้าใจว่าคงจะได้แก่ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ช่างปั้นผู้มีฝีมือ และทรงเป็นผู้อำนวยการกองช่างสิบหมู่ของหลวง พระองค์เจ้าประดิษฐ์ฯ ทรงปั้นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ในอดีต ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร
ตามธรรมเนียมไทย ศิลปินผู้สร้างงานต่าง ๆ มักไม่แจ้งชื่อให้ปรากฎและมักเป็นผลงานร่วมกันของช่างฝีมือหลายคน ทำถวายพระมหากษัตริย์หรือผู้อุปถัมภ์ค้ำชู จนกว่าจะได้ศึกษารายชื่อช่างสิบหมู่นั่นแหละ จึงจะพอทราบนามของช่างศิลปินเหล่านั้นได้ แต่รายชื่อที่มีปรากฎ ก็มักเป็นชื่อตามยศ หรือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน โดยไม่มีวงเล็บชื่อเดิม ทำให้ยากแก่การติดตามชีวประวัติของแต่ละท่าน ถ้าไม่มีการบันทึกเรื่องราวเอาไว้ว่างานชิ้นไหนเป็นผลงานของช่างศิลป์ผู้ใดแล้ว ผู้อยู่รุ่นหลังเช่นเรานี้ก็ได้แต่คาดเดาว่าใครกันแน่ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานนั้น ๆ
ความเห็นล่าสุด