1ก. สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833
เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐอเมริกา
สถาบันสมิธโซเนียน – ห้องนิทรรศการ 1
เครื่องราชบรรณาการที่พระมหากษัตริย์ไทยได้พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐและชาวอเมริกัน ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การทูตระหว่างทั้งสองประเทศ ประเทศไทยหรือสยามในขณะนั้นเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ได้ลงนามในสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ เฮนรี่ เบอร์นี่ย์ ทูตจากอังกฤษประสบความสำเร็จในการเจรจากับประเทศไทยใน ค.ศ. 1829 ประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็คสัน ก็ส่งเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ทูตอเมริกันคนแรกมายังประเทศไทย ทางเรือรบอเมริกัน พีค็อก ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1833 เพื่อเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์
การแลกเปลี่ยนบรรณาการระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นส่วนสำคัญของการเจรจาทางการทูต เอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ เตรียมจัดหาบรรณาการมาถวายเป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่เรือซึ่งนำบรรณาการจากประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่มาตามกำหนด เรือรบพีค็อกไม่สามารถรอเรือลำดังกล่าวได้ จึงต้องจัดหาสินค้าจากเมืองจีน ซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่ามาถวาย ระหว่างรอให้บรรณาการที่จัดเตรียมไว้มาถึง ส่วนของที่พระราชทานประธานาธิบดี ซึ่งโรเบิร์ตส์ รับแทนนั้น โรเบิร์ตส์บันทึกไว้ว่า เป็นของพื้นเมืองที่แปลกประหลาด ซึ่งแท้ที่จริงเป็นของมีค่าจากป่าดงดิบของไทย
แต่ถึงกระนั้น การมาเยือนของ เอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ก็ได้สร้างความสัมพันธ์อันยืนยาวระหว่างประเทศทั้งสอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ ค.ศ.1824-1851) ทรง พระกรุณาโปรดเกล้า ให้ร่างสนธิสัญญา ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า “สนธิสัญญาโรเบิร์ตส์” และต่อมาเป็นที่รู้จักในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ปี ค.ศ.1833 ขึ้น เป็นที่น่าเสียดายว่า เนื่องจากความไม่เข้าใจทางวัฒนธรรม และผลิตผลที่พระราชทานไปนั้น เป็นของที่ไม่คงทน จึงมีแต่เพียงการบันทึกรายการสิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้นเก็บไว้เป็นประวัติ
เอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อวาน และวันนี้ได้รับสิ่งของพระราชทาน ผ่านเจ้าพระยาคลัง ดังนี้ งาช้าง น้ำตาล น้ำตาลปึก พริกไทย กระวาน รงทอง ไม้กฤษณา ไม้ฝาง และคราม”
หมายเหตุ: เครื่องราชบรรณาการของจริงที่มาพร้อมกับสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ เช่น งาช้าง และ ผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นของที่เสื่อมสลายตามกาลเวลา จึงไม่มีอยู่ในคอลเลกชั่น เครื่องราชบรรณาการในระยะต่อมา จะมีภาพประกอบ เช่น เสื่อทำจากเตยสานเป็นลวดลายประณีต กล่องใส่หมากพลู และงาช้างแกะสลักด้วยมือ ภาพประกอบอยู่ที่นี่
ความเห็นล่าสุด